หลวงปู่คร่ำ หรือ ท่านพ่อคร่ำ วัดวังหว้า "เทพเจ้าแห่งภาคตะวันออก"

หลวงปู่คร่ำ หรือ ท่านพ่อคร่ำ วัดวังหว้า "เทพเจ้าแห่งภาคตะวันออก"

ท่านเกิด วันพุธ แรม ๑๐ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีระกา ตรงกับวันที่ ๒๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๔๐ ที่บ้านวังหว้า ตำบลวังหว้า อำเภอแกลง จังหวัดระยอง

ชาววังหว้าและหมู่บ้านใกล้เคียงเรียกนามท่านว่า ”ท่านพ่อคร่ำ” ท่านมีอายุ๑๐๐ปีบริบูรณ์เมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๔๐ พรรษา ๘๐ นับเป็นพระเถระที่มีพรรษาสูงสุดของเมืองไทยรูปหนึ่ง เป็นพระเกจิอาจารย์ที่ได้รับความนิยมและเป็นที่ศรัทธาของประชาชนทั่วประเทศ

หลวงปู่คร่ำเป็นพระภิกษุที่มีบุญญาบารมีเป็นที่ปรากฏแก่ประชาชนมาเป็นเวลานานแล้ว ท่านมีคุณูปการแก่สังคมหลายวงการอย่างกว้างขวาง ทั้งฝ่ายศาสนจักรและอาณาจักรทั้งในจังหวัดระยองและจังหวัดอื่นๆ และเป็นปูชนียบุคคลที่ได้รับการเคารพและคารวะศรัทธาเป็นอย่างสูงจากชาวพุทธทั่วประเทศ เห็นได้จากงานพุทธาภิเษกที่สำคัญที่จัดในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม อันเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของบ้านเมือง หลวงปู่จะได้รับนิมนต์ไปร่วมพิธีเกือบทุกครั้ง

เนื่องจากมีผู้ให้ความเคารพศรัทธาหลวงปู่คร่ำจำนวนมากต่างพากันยึดหลวงปู่เป็นสรณะในยามที่ต้องเผชิญกับภาวะคับขัน ทั้งยังขอพรบารมีจากท่านช่วยบันดาลใช้ประสบโชคลาภ ประสบความสำเร็จสมปรารถนา มีความสุขสมหวังในชีวิตจึงมีผู้ให้สมญานามท่านว่า ”เทพเจ้าของชาวระยอง” บ้าง ”ท่านพ่อแห่งฝั่งทะเลตะวันออก” บ้าง ”เทพเจ้าแห่งภาคตะวันออก” ฯลฯ รวมความว่าหลวงปู่คร่ำเป็นพระที่อยู่ในใจของทุกคน

วัตถุมงคล เครื่องรางของขลังของหลวงปู่คร่ำ มีมากมายหลายอย่าง ทั้งตะกรุดโทน สีผึ้งเมตรตา ผ้ายันต์ น้ำมันงา และเหรียญแบบต่างๆสิ่งที่เป็นเหมือนสัญลักษณ์ของหลวงปู่คร่ำ คือ ผ้ายันต์พัดโบก ชื่อเต็มว่า ”ผ้ายันต์พัดโบกมหาลาภหลวงปู่คร่ำ วัดวังหว้า อ.แกลง จ.ระยอง” แบ่งเป็นสองท่อน ท่อนบนสีแดงท่อนล่างสีขาวประกอบด้วยรูปหลวงปู่และยันต์หลายชนิด

ผ้ายันต์พัดโบกนี้หลวงปู่ทำขึ้นเพื่อป้องกันวาตภัย ทั้งลมและฝนในยามที่มรสุมรุนแรง จะพัดทำความเสียหายแก่อาคารบ้านเรือนผ้ายันต์พัดโบกจะโบกให้ลมเปลี่ยนทิศทาง รวมทั้งโบกเอาความชั่วร้ายอื่นๆมิให้กล้ำกรายมาถึงบ้านเรือนของผู้ที่ครอบครองผ้ายันต์นี้ได้

หลวงปู่ได้ละสังขารถึงแก่มรณภาพ ในวันที่ ๑ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๔๐ เวลาประมาณ ๑๔ นาฬิกา ด้วยอาการสงบ ณ. โรงพยาบาลสมิติเวชศรีราชา ท่ามกลางความเศร้าโศกอาลัยของสานุศิษย์และสาธุชนทั่วประเทศนับล้านคนที่ได้ทราบข่าว ต่างหลั่งไหลมากราบไหว้ เคารพศพที่วัดวังหว้าตลอดเวลา ๑๕ วัน ที่บำเพ็ญกุศล นับเป็นบุญญาบารมีของหลวงปู่โดยแท้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น