หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก จ.อยุธยา เทพเจ้าแห่งความเมตตา

หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก จ.อยุธยา 2485 พิมพ์หน้าเล็ก

หลวงพ่อจง พุทธัสสโร เป็นครูบาอาจารย์รุ่นเก่าที่ได้ล่วงลับดับสังขารไปแล้ว ตามวิสัยแห่งชีวิตมวลสัตว์โลกทั้งหลายที่มีเกิดแล้วต้องมีแก่ เจ็บ และตายไปในท้ายที่สุด แต่ทว่าในช่วงชีวตของพระคุณท่าน ได้สร้างสมความดีทั้งโดยฝ่ายโลกและฝ่ายธรรมไว้เป็นอเนกอนันต์ เป็นที่เล่าขานบอกกล่าวกันมาอย่างไม่รู้จักจบสิ้น แม้ว่าท่านจะล่วงลับดับขันธ์ไปนานนับเป็นสิบ ๆ ปี ก็ตาม ตรงกันข้ามสภาวะแห่งความเจริญของสังคมยุคปัจจุบันที่มุ่งเน้นในวิทยาการสมัยใหม่ เป็นสังคมวัตถุนิยม บูชาในคุณค่าของวัตถุเหนือสภาพจิตใจ เป็นเหตุให้พลโลกทั้งหลายล้วนมีจิตใจที่เสื่อมทราบ มีความเห็นแก่ตัวตนของตนมากยิ่งขึ้น จนถึงกับมองข้ามหลักศีลธรรมจรรยาว่าเป็นสิ่งไร้ค่าหาสาระไม่มี ด้วยความเป็นไปในสังคมยุคใหม่ที่ว่านั้น จึงทำให้ผู้มีปัญญาหวนกลับมามองเห็นถึงคุณค่าแห่งศีลธรรม ซึ่งเหตุนั้น เรื่องราวของครูบาอาจารย์ที่อุดมด้วยความดีงาม จึงโดดเด่นเป็นที่สนใจใคร่รู้ เป็นแบบอย่างอีกครั้งหนึ่ง ชีวิตความเป็นมาของหลวงพ่อจง พุทธัสสโร นี้ก็เช่นกัน นับเป็นเนติแบบอย่างแก่ผู้ใฝ่ดีทั้งหลายได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะผู้อยู่ในเพศบรรพชิตด้วยแล้ว หากได้อ่านได้ศึกษาอย่างถี่ถ้วนแล้ว ย่อมจะรู้ได้ว่า ผู้เป็นพระนั้นควรจะเป็นอยู่อย่างไร และ......เป็นพระแท้แล้วหรือยัง

สำหรับวันเดือนปีเกิดหรือวันถือกำเนิดของหลวงพ่อจง พุทธัสสโร นั้น เนื่องจากเป็นเหตุการณ์ที่ล่วงเลยผ่านพ้นมานาน อีกทั้งการบันทึกก็มิได้มีหลักฐานที่เด่นชัด เป็นแต่ระบุไว้พอรู้ความว่า ได้กำเนิดในสมัยต้นรัชกาลที่ 5 แห่งราชวงศ์จักรี ณ วันพฤหัสบดี เดือน 4 ปีวอก อันเป็นวันขึ้น 8 ค่ำ ที่ตรงกับวันที่ 6 เดือนมีนาคม พ.ศ.2415 และด้วยเวลานั้นยังไม่มีการใช้ชื่อสกุล จึงไม่มีการระบุชื่อนามสกุลเดิมของท่านไว้

เมื่ออายุครบอุปสมบทในปี พ.ศ.2435 โยมบิดามารดาจึงจัดพิธีอุปสมบทให้ได้เป็นพระภิกษุต่อไป ณ พัทธสีมาวัดหน้าต่างในที่พำนักอยู่ โดยมี พระอุปัชฌาย์สุ่น (หลวงพ่อสุ่น วัดบางปลาหมอ) เจ้าอาวาสวัดบางปลาหมอ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์อินทร์ เจ้าอาวาสวัดหน้าต่างนอก เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอาจารโพธิ์ เจ้าอาวาสวัดหน้าต่างใน เป็นพระอนุสาวนาจารย์

จากพิธีอุปสมบทในครั้งนั้น พระภิกษุจงได้รับสมญานามตามเพศภาวะว่า “พุทธัสสโรภิกขุ” และพำนักเพื่อศึกษาพระธรรมวินัย ตลอดจนวิชาการต่าง ๆ ที่พระภิกษุพึงจะต้องเรียนรู้เท่าที่มีอยู่ในสมัยนั้น ณ วัดหน้าต่างในนั่นเอง

ในขณะที่พระภิกษุจง ยังคงพำนักอยู่กับผู้เป็นอาจารย์ คือท่านพระอาจารย์โพธิ์ ที่วัดหน้าต่างใน ซึ่งมีบ้านเป็นครั้งเป็นคราวที่ท่านขออนุญาตจากผู้เป็นพระอาจารย์ ไปเรียนวิชายังสำนักอื่น แต่เมื่อเจนจบหลักสูตร เป็นต้องกลับคืนสู่วัดหน้าต่างในต้นสังกัด ทุกครั้งไป แม้ว่าเวลานั้น ท่านจะยังคงอยู่ในฐานะพระลูกวัดศิษย์เจ้าอาวาสท่านพระอาจารย์โพธิ์ แต่ชีวิตแห่งการบวชเข้ามาอยู่ในเพศบรรพชิตของพระภิกษุจงก็นับได้ว่า เป็นชีวิตที่ได้รับความสำเร็จผลสมความตั้งใจ เป็นผู้รู้พระปริยัติธรรมตามฐานานุรูป และการปฏิบัติกรรมฐานทำความเข้าใจในพระธรรมขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อใช้ปฏิบัติจิตให้บังเกิดความสงบสุขและบรรลุเข้าสู่วิถีแห่งความพ้นทุกข์ ตลอดจนเป็นผู้รอบรู้เจนจบในทางเวทย์วิทยาคม ซึ่งมีพระอาจารย์โพธิ์เป็นปฐมพระอาจารย์ประสาทวิชาให้

วิชาความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมา นอกจากจะยังประโยชน์ให้บังเกิดเป็นความสุขสงบเย็นเฉพาะตนแล้ว ยังสามารถใช้เป็นเครื่องกล่อมเกลาบรรเทาทุกข์ให้แก่ผู้อื่นตามควรแก่ฐานานุรูป ตามด้วยความเหมาะควรแก่กาละเทศะต่อปวงชนทั้งหลาย ทั้งทางกายและทางใจด้วย

ด้วยภูมิธรรมความรู้ อันเกิดจากความวิริยะพากเพียรที่หนุนเนื่องด้วยบุญบารมีเดิม จึงทำให้ท่านเป็นที่เคารพศรัทธาของญาติโยมปวงชนทั้งหลาย ซึ่งนับวันก็แต่จะมีจิตศรัทธาเลื่อมใสมากยิ่ง ๆ ขึ้น ฉะนั้น ต่อมาเมื่อหลวงพ่ออินทร์สิ้นบุญในอันที่จะครองเพศเป็นภิกษุ ทำหน้าที่เป็นเจ้าอาวาสวัดหน้าต่างนอกได้ต่อไป ทำให้หน้าที่การดูแลวัดปกครองสงฆ์ของวัดหน้าต่างนอกว่างลง ซึ่งจำต้องรีบหาและแต่งตั้งเป็นการด่วน

ในความคิดความเห็นของบรรดาศรัทธาญาติโยมทั้งหลาย ต่างเห็นพ้องต้องกันอย่างไม่มีการนัดแนะมาก่อนว่า พระภิกษุจง พุทธัสสโร ศิษย์ของท่านพระอาจารย์โพธิ์ วัดหน้าต่างใน เพราะสมกว่าใครอื่นทั้งหมด ด้วยความเห็นนั้น จึงได้ชักชวนกันไปหาท่านพระอาจารย์โพธิ์เพื่อขอพระภิกษุจงให้มาดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสที่วัดหน้าต่างนอก แทนท่านพระอาจารย์อินทร์ พระอาจารโพธิ์ได้รับรู้แล้ว พิจารณาเห็นถึงความเหมาะสมหลาย ๆ ประการ เริ่มแต่ความศรัทธาของญาติโยมชาวบ้าน ความเหมาะสมของผู้เป็นศิษย์ จึงเห็นควรตามที่ญาติโยมเขามาขอ เมื่อศรัทธาเรียกร้อง พระอาจารย์เห็นชอบ พระภิกษุจงจึงมาทำหน้าที่เป็นเจ้าอาวาสวัดหน้าต่างนอกนับแต่นั้นมา

หลวงพ่อเป็นบรรพชิตที่เหมาะสมแก่คนทุกชั้น ไม่มีคำว่า “ขนาดเราไปหาท่านแล้วเข้าไม่ถึง” โดยเด็ดขาด ทั้งนี้เพราะหลวงพ่อจงท่านทรงคุณธรรมอันสำคัญอยู่สามประการ คือ

1. เมตตากรุณา หลวงพ่อจงไม่เพียงแต่สอนให้ผู้อื่นมีเมตตากรุณาต่อกันเท่านั้น แต่ตัวของหลวงพ่อเองก็มีเมตตากรุณาประจำใจด้วยอย่างสมบูรณ์ ท่านยิ้มแย้มแจ่มใสกับทุกคน ไม่เคยเห็นท่านแสดงท่าทางโกรธเคืองผู้ใด ไม่ว่าเวลาไหน ใครมาหาท่านต้องการสิ่งใดท่านจะรีบทำให้ด้วยความเต็มใจและว่องไว บางครั้งแขกมาหาเป็นเวลาที่ท่านจำวัดแล้ว หลวงพ่อจงท่านยังรีบลุกจากที่จำวัดมาสงเคราะห์ให้จนสำเร็จประโยชน์

2. อธิวาสนขันติ หลวงพ่อจงท่านรับแขกตลอดเวลา ทุกเมื่อเชื่อวัน อดทนต่อความเมื่อยล้า ไม่เคยแสดงอาการเหน็ดเหนื่อยให้เห็นเลย

3. ปริจจาคะ หลวงพ่อจงท่านบริจาคทุกอย่างไม่ว่าสิ่งใด ใครขออะไรแม้กระทั่งย่ามที่ท่านถืออยู่ ท่านยินดีมอบให้ด้วยความยิ้มแย้มแจ่มใส คุณธรรมสามประการนี้ เป็นวิหารธรรมที่หลวงพ่อจงท่านสร้างสมอยู่ชั่วชีวิตท่าน

หลวงพ่อจง เป็นพระเถราจารย์ที่มีวิทยาคมแก่กล้า ได้รับการถ่ายทอดวิทยาคมจาก หลวงพ่อสุ่น วัดบางปลาหมอ อำเภอบางบาล และหลวงพ่อปั้น วัดพิกุล อยุธยา พระอาจารย์ทั้งสองท่านนี้ ก็เป็นพระอาจารย์ของหลวงพ่อปาน วัดบางนมโค เช่นกัน หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก เป็นสหายธรรมสนิทสนมกับหลวงพ่อปาน วัดบางนมโค เป็นอันมาก เนื่องจากมีพระอุปัชฌาย์องค์เดียวกัน นัยว่าสองหลวงพ่อนี้เป็นศิษย์สำนักเดียวกัน จึงมีความสนิทสนมและต่างฝ่ายต่างเคารพนับถือธรรมปฏิบัติของกันและกันมากเป็นพิเศษ

หลวงพ่อปาน มีสังฆกิจอย่างไร ต้องนิมนต์หลวงพ่อจงไปในพิธีเสมอ หลวงพ่อจงมีสังฆกิจเช่นไรก็จะต้องนิมนต์หลวงพ่อปานไปร่วมพิธีทุกครั้ง หลวงพ่อปาน ท่านมักพูดแก่ศิษย์ของท่านเองว่า พระอย่างหลวงพ่อจงนั้น เป็นทองคำทั้งองค์ พระขนาดนี้อย่า ไปขออะไรท่านนะ จะเป็นบาปหนัก เพราะแม้เทพยดาชั้นสูง ๆ ยังต้องขอเป็นโยมอุปัฎฐากเลย

ด้วยเหตุนี้ ลูกศิษย์ของหลวงพ่อปานจึงเคารพนับถือหลวงพ่อจงมาก และท่านยังสั่งว่า “ถ้าฉันไม่อยู่ติดขัดเรื่องธรรมะ ให้ไปถามท่านจงนะ ท่านจงนี้น่ะ ท่านสอนเทวดามาแล้ว ถ้าเธอไปเรียนกับท่านจงได้ ก็นับว่าเป็นบุญของเธอ”

เมื่อกล่าวถึงวิทยาอาคมของหลวงพ่อที่มีผู้นิยมและต้องการนั้น เท่าที่ทราบมีสามสาขา คือ

1. วิทยาคมทางด้านคงกระพันชาตรี
2. วิทยาคมทางด้านเมตตา
3. วิทยาคมทางน้ำมนต์

ในบรรดาวิทยาคมทั้งสามสาขาที่ประมวลมานี้ วิทยาคมทางเมตตาเป็นที่เลื่องลือมากกว่าอย่างอื่น หลวงพ่อจงท่านเฝ้าสอนให้ทุกคนมีเมตตาต่อกัน อย่าเบียดเบียนกันเป็นนิตย์ แสดงว่าท่านให้ทั้งที่พึ่งพาทางกายและทางใจพร้อมกันไป แทนที่จะมุ่งให้ทุกคนยึดมั่นในวัตถุเช่นอาจารย์อื่น ๆ การกระทำของหลวงพ่อจง และวิทยาคมทางเมตตาของท่านจึงมุ่งเสริมสร้างสังคมให้รู้จักการอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข อันเป็นยอดปรารถนาของคำสั่งสอนทั้งมวลอันเป็นโลกียะ ถ้าจะกล่าวว่าหลวงพ่อจงท่านเป็นนักสงเคราะห์ก็ไม่ผิดมิใช่หรือ

หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก ได้สร้างอิทธิเครื่องมงคลไว้มากมายหลายชนิด มีทั้งเหรียญ ผ้ายันต์ ตะกรุด แผ่นยันต์มหาลาภ และกันไฟ ดังนี้

1. เสื้อยันต์แดง เสื้อยันต์ของท่านมีชื่อเสียงมาก เมื่อครั้งสงครามอินโดจีน ท่านได้สร้างขึ้นไว้แจกแก่ทหารที่ออกสู่สมรภูมิ ในคราวสงครามโลกครั้งที่สองเช่นกัน เสื้อยันต์ของท่าน ได้ปรากฎเกียรติคุณในสนามรบมาแล้วอย่างโด่งดัง จนกิตติศัพท์แพร่หลายไปทั่วประเทศ และด้วยเหตุนี้ จึงมีประชาชนพากันหลั่งไหลไปรับแจกที่วัดหน้าต่างนอก ตลอดระยะเวลาที่เกิดสงครามอย่างไม่ขาดสาย

2. ผ้ายันต์สิงห์มหาอำนาจ สร้างกันมาแต่สงครามโลกครั้งที่สอง และสร้างต่อมาอีกหลายรุ่น ผ้ายันต์ของท่านนี้มีคุณวิเศษครบเครื่อง ใช้ได้สารพัด ไม่ว่าคลาดแคล้ว คงกระพัน และทางด้านโชคลาภ เป็นต้น

ประสบการณ์จากทหารและตำรวจชายแดนหลายท่านยืนยันว่า ผ้ายันต์ของหลวงพ่อจงเป็นมหาอุดชั้นหนึ่ง

3. แผ่นยันต์ พิมพ์ด้วยกระดาษสองสี คือตัวยันต์และตัวหนังสือเป็นสีดำ รูปหลวงพ่อบริเวณจีวรพิมพ์ด้วยสีเหลือง แผ่นยันต์นี้สร้างครั้งแรกในปี พ.ศ.2490 เมื่อคราวสร้างเจดีย์ข้าวเปลือก หลวงพ่อท่านสร้างแจกเป็นที่ระลึกแก่ผู้ที่จะมาร่วมงาน ปรากฎว่าแผ่นยันต์นี้ อำนวยโชคลาภแก่เจ้าของบ้านที่นำไปบูชา ท่านจึงสร้างแจกอีกต่อมาหลายรุ่น บางรุ่นเป็นสีเดียว เช่น สีฟ้า สีดำ แผ่นยันต์นี้นิยมกันมากเมื่อหลังสงครามโลกสงบ ๆ ใหม่ ๆ เพราะนอกจากจะอำนวยโชคลาภดังกล่าวแล้ว ยังป้องกันไฟไหม้ได้ชะงัดนัก

4. ปลาตะเพียนเงิน-ตะเพียนทอง ปลานี้หลวงพ่อจงท่านสร้างเป็นคู่ ตัวเมียกับตัวผู้ เดินอักขระขอม ปั๊มนูนไม่เหมือนกัน ท่านสร้างเมื่อปี พ.ศ.2490 เศษ ๆ ได้มีผู้เคยพบปลาตะเพียนคู่นี้ในกุฎิท่านเจ้าคุณศรี (สนธิ์) วัดสุทัศนฯ ซึ่งท่านมรณภาพเมื่อปี พ.ศ.2495 เข้าใจว่า หลวงพ่อจงมอบให้แก่ท่านเจ้าคุณโดยเฉพาะ ปลาตะเพียนคู่ เป็นเครื่องรางที่ชาวจีนนับถือกันอย่างมากมายมาช้านาน เครื่องถ้วยชามของชาวจีนเก่า ๆ มักจะทำเป็นปลากลับหัว อันหมายถึง บ่อเกิดของชีวิตแห่งโชคลาภ การปลุกเสกปลาตะเพียนของหลวงพ่อจงนี้ ไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือน กล่าวคือ ท่านปลุกเสกแล้วให้ลูกศิษย์ปล่อยลงที่ท่าน้ำหน้าวัดคู่หนึ่ง ปรากฎว่า ปลาตะเพียนที่เป็นโลหะตั้งตัวตรงแบบปลาจริง ๆ และไม่จมน้ำด้วย และที่น่าประหลาดไปกว่านั้นก็คือ ปลาตะเพียนของหลวงพ่อจง ลอยทวนน้ำ ไม่ใช่ลอยตามน้ำ และเป็นที่ร่ำลือกันว่า ปลาตะเพียนของท่านว่ายน้ำได้

ครั้นต่อมาในวันที่ 14 มกราคม พ.ศ.2508 หลวงพ่อจงได้ล้มป่วยลงเป็นอัมพาตทางด้านขวาของร่างกายหมดความรู้สึก แต่ใบหน้าของท่านยังอิ่มเอิบ ผิวพรรณผ่องใสมาก ท่านมีอาการยิ้มแย้มเหมือนไม่รับทราบความเจ็บป่วยนั้น ลูกศิษย์ลูกหาพากันห่วงใยเป็นอย่างยิ่ง ได้ตามนายแพทย์จากกรุงเทพฯไปรักษา ท่านพยายามห้ามปรามอย่างไรก็ไม่เป็นผล ท่านบอกแก่ลูกศิษย์ว่า “ตามหมอมาก็ไม่มีประโยชน์ ป่วยคราวนี้ไม่มีวันหาย อย่าห่วงเลยนะ มันจะเจ็บ มันจะป่วย มันจะตาย ไปห้ามมันไม่ได้ ลูก ๆ ทุกคนจงจำไว้ เวลาจะเจ็บ เวลาจะป่วย เวลาจะตาย อย่าเอาจิตไปเกาะเกี่ยวเวทนา จะได้ไม่เกิดทุกข์”

นี่คือคำสั่งสอนครั้งสุดท้ายของ หลวงพ่อจง พุทธัสสโร ที่ให้ลูกศิษย์เห็นถึงคุณวิปัสสนาญาณชั้นสูง ถึงสังขารุเปกขาญาณ จากนั้นมา ท่านก็นอนนิ่ง นาน ๆ จะหายใจสักครั้ง ทราบจากลูกศิษย์ที่ใกล้ชิดว่า ท่านเข้าสมาบัติอนุโลมปฏิโลมตลอดเวลา จนกระทั่งถึงวันอังคาร ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ปีมะโรง อันเป็นวันมาฆบูชา ตรงกับวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2508 เวลา 01.55 น. ท่านก็ถึงแก่มรณภาพด้วยอาการสงบเหมือนคนนอนหลับ ท่ามกลางความโศกสลดในมวลหมู่ลูกศิษย์ที่นั่งเฝ้าโดยใกล้ชิดทั้งหลายนั่นเอง.........

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น