พระสมเด็จ พิมพ์บัวห้าเม็ด ฐาน๗ชั้น หลวงพ่อพริ้ง วัดบางปะกอก

หลวงพ่อพริ้ง วัดบางปะกอก

หลวงพ่อพริ้ง เป็นพระที่เคร่งในพระธรรมวินัย มีศีลาจริยวัตรที่งดงาม ปฏิบัติศาสนกิจด้วยความตั้งใจ และมีเมตตาธรรมสูง จึงเป็นที่เคารพศรัทธาเลื่อมใสของชาวบ้านทั่วๆ ไป โดยเฉพาะชาวบางปะกอก รุ่นเก่าๆ ต่างเคารพเทิดทูนหลวงพ่ออยู่เหนือพระคณาจารย์องค์อื่นใด

วัตถุมงคลของท่าน ที่มีชื่อเสียงมีอยู่หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น เหรียญรูปเหมือน พระผงตระกูลต่างๆ และเครื่องราง ลูกอม ฯลฯ นอกจากนี้ ท่านยังมีวิชาความรู้เป็นเลิศในด้านการแพทย์แผนโบราณอีกด้วย มีหลักฐานหนึ่งที่เป็นเรื่องยืนยันได้ว่า หลวงพ่อพริ้ง วัดบางปะกอก เป็นสุดยอดพระเกจิอาจารย์เมืองกรุง ที่มีวิชาอาคมเข้มขลัง และมีวัตรปฏิปทาอันน่าเคารพศรัทธาเลื่อมใส ก็คือ
เสด็จในกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ พระบิดาแห่งราชนาวีไทย ก็ยังให้ความศรัทธาเลื่อมใสหลวงพ่อพริ้ง ทัดเทียมกับหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า จ.ชัยนาท โดยพระองค์ ตลอดจนข้าราชบริพาร ได้มาถือศีลประจำที่วัดบางปะกอก และยังให้พระโอรสมาอุปสมบทที่วัดนี้ ถึง ๓ พระองค์ คือ พล.ร.อ.ม.จ.ครรชิต อาภากร, ม.จ.สมรบรรเทิง และ ม.จ.ดำแดงฤทธิ์

หลวงพ่อพริ้ง เป็นผู้มอบกระดูกหน้าผากนางนากให้เสด็จในกรมฯ ซึ่งมีความเฮี้ยนมากจนเป็นที่กล่าวถึงของพระโอรสและธิดา ซึ่งเสด็จเตี่ยบอกว่า ไม่ต้องกลัว และความเฮี้ยนของนางนากก็ปรากฏถึง ๒ ครั้ง ในตำหนักนางเลิ้ง

ในเรื่องกระดูกหน้าผากของนางนากนี้ได้ปรากฏในงานเขียนประวัติของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) รวบรวมโดย ม.ล.พระมหาสว่าง เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา พ.ศ.2473 บรรยาย ไว้ว่าหลังจากที่นางนาคออกอาละวาดหนัก สมเด็จพระพุฒาจารย์ท่านรู้เรื่องจึงลงไปค้างที่วัดมหาบุศย์และเรียกนางนาค ขึ้นมาคุยกัน ผลสุดท้ายท่านเจาะเอากระดูกหน้าผากของนางมาลงยันต์และทำเป็นปั้นเหน่งคาดเอว ผีนางนาคก็ไม่ออกมาอาละวาดอีกเลย

และในเรื่องนี้ สมบัติ พลายน้อย ก็เป็นอีกผู้หนึ่งที่ค้นคว้าและเขียนเรื่องของแม่นาคสรุปเอาไว้ว่า
กระดูกหน้าผากแม่นาคนั้น สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ได้ประทานให้กับ สมเด็จหม่อมเจ้าสมเด็จพระพุฒาจารย์ (ทัต) และประทานให้ หลวงพ่อพริ้ง (พระครูวิสุทธิ์ศีลาจารย์) อีกต่อ จนมาถึงกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ 
ไม่นานนักแม่นาคก็มากราบลา จากนั้นก็ไม่มีใครพบกระดูกหน้าผากของแม่นาคอีก 

จึงนับได้ว่าในยุคนั้นท่านมีชื่อเสียงโด่งดังไม่แพ้คณาจารย์ใด ๆ ในยุคเดียวกันเลย เนื่องจากหากหน่วยงานราชการในยุคนั้นมีพิธีพุทธาภิเษกที่สำคัญ ๆ แล้ว “หลวงพ่อพริ้ง” ก็จะต้องเป็นคณาจารย์อีกรูปหนึ่งที่ได้รับการนิมนต์ให้ไปร่วมพิธีทุกครั้ง ชื่อเสียงของท่านจึงขจรระบือไกล

วัตถุมงคลที่ท่านได้สร้างไว้ จนมีชื่อเสียงโด่งดัง มีหลากหลายประเภท อาทิ เหรียญรุ่นแรก พระผงพิมพ์สมเด็จต่างๆ รวมทั้งลูกอม

ในบรรดาศิษยานุศิษย์ที่ใกล้ชิดกับหลวงพ่อ ต่างกล่าวยืนยันตรงกันว่า พระพิมพ์สมเด็จ หลวงพ่อพริ้ง ใช้แทนเหรียญรุ่นแรกของท่าน ที่ได้รับการยกย่องว่า เป็นอันดับต้นๆ ของเหรียญยอดนิยมในวงการพระเมืองไทย

หลวงพ่อพริ้ง ท่านมรณภาพลงในวันที่ ๑๗ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๙๐ ในวันที่ท่านมรณภาพนั้นท่านได้ให้ลูกศิษย์ประคองท่านลุกขึ้นนั่ง แล้วท่านก็ประสานมือในท่าสมาธิ ครู่เดียวท่านก็มรณภาพลง สิริอายุได้ ๗๘ ปี



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น