เหรียญหลวงพ่อทวด วัดช้างให้ รุ่น 3 พ.ศ.2503-2504


หลวงพ่อทวด วัดช้างให้ รุ่น 3

เหรียญหลวงพ่อทวด วัดช้างให้ ที่ท่านพระครูวิสัยโสภณ (อาจารย์ทิม ธมฺมธโร) เจ้าอาวาสวัดช้างให้ได้จัดสร้างขึ้นในขณะที่ท่านมีชีวิตอยู่นั้นมีมากมายหลายรุ่นหลายพิมพ์ ในบรรดาเหรียญทั้งหมดที่ท่านอาจารย์ทิมสร้างนั้น ท่านสร้างเหรียญรุ่น 3 จำนวนมากที่สุดและมีพิมพ์มากที่สุด อีกทั้งเป็นเหรียญที่มีประสบการณ์มากมายที่สุดและเป็นที่ยอมรับในวงการพระเครื่องพระบูชาไทย

การที่มีคนเรียกท่านว่า “หลวงพ่อทวด” เนื่องมาจากทุกคนได้ทราบมาว่า “องค์สมเด็จหลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด” ท่านมีชีวิตอยู่สมัยอยุธยา หากนับอายุของหลวงพ่อทวดจนมาถึงปัจจุบันนี้แล้วท่านจะมีอายุหลายร้อยปี จึงใช้สามัญสำนึกเรียกผู้สูงวัยอายุเป็นร้อยปีด้วยความเคารพว่า “ปู่ทวด” เลยนำคำนี้มาเรียกหลวงพ่อทวด ว่าหลวงปู่ทวด แต่การเรียกเช่นนี้จะทำให้นักสะสมพระฯ สายหลวงพ่อทวดโดยตรง "งง" ทำให้เข้าใจผิดว่ามีพระสูงอายุอีกรูปหนึ่งชื่อ “ทวด” จึงเรียกท่านว่า “หลวงปู่ทวด” เหมือนกับที่เรียกหลวงปู่ทิม วัดนวลนรดิสวรวิหาร กทม. หลวงปู่ชู วัดนาคปรก กทม. หลวงปู่จันทร์ วัดศรีเทพ จ.นครพนม หรือหลวงปู่ทิม วัดละหารไร่ เป็นต้น จะทำให้เข้าใจผิดในสาระสำคัญได้ว่า ท่านเป็นพระร่วมสมัยกับหลวงปู่ทั้งหลายที่ได้กล่าวถึงมาแล้ว ทั้งๆ ที่หลวงพ่อทวดท่านมีอายุมากกว่าหลายเท่านัก

ภาษาใต้ท้องถิ่น เขาใช้เรียกผู้สูงอายุมากๆ ว่า "ทวด" หากอายุมากเป็นร้อยๆปีเขาจะเรียกว่า "พ่อทวด" เมื่อท่านเป็นพระสงฆ์จึงเรียกท่านว่า “หลวงพ่อทวด” 
ดังนั้น “หลวงพ่อทวด” ซึ่งมีพระอริยะสงฆ์เพียงรูปเดียวเท่านั้นในประเทศไทยที่ถูกเรียกขานเช่นนี้จากอดีตจวบจนปัจจุบัน 

เนื่องจากเหรียญรุ่น 3 นี้เป็นเหรียญที่มีแม่พิมพ์มากที่สุดจำยากที่สุดด้วย เพราะโรงงานเอาแม่พิมพ์ด้านหลังของเหรียญมาสลับสับเปลี่ยนกัน จึงทำให้ปั๊มเหรียญพระหลวงพ่อทวดรุ่น 3 ออกมามีมากมายหลายพิมพ์

พระคาถาที่อยู่ด้านหลังเหรียญด้านที่เป็นรูปเหมือนท่านอาจารย์ทิม ธมฺมธโร เช่นเหรียญรุ่น 2 ไข่ปลาใหญ่โดยเฉพาะพิมพ์ ไม้มลายและพิมพ์สายฝน (ด้านหลังมี 2 แม่พิมพ์ อีกพิมพ์หนึ่งเขียนพระคาถาแบบเหรียญรุ่น 3) อ่านได้ว่า “นะโมพุทธายะ นะมะพะทะ จะภะกะสะ” ซึ่งก็คือพระคาถายอดหัวใจ 108 พระคาถานี้เป็นหัวใจ ของหัวใจ 108 อีกทีหนึ่ง ไม่ว่าจะใช้พระคาถาบทใด ต้องเอาพระคาถาบทนี้แทรกด้วยทั้งสิ้น สุดแต่จะกล่าวอุปเท่ห์วิธีใช้ได้มากมากสุดจะพรรณนา สารพัดจะใช้เถิด จะปลุกเสกหรือจะทำการใดๆก็ดี ทั้งทางอยู่ยง ทางเมตตา ใช้ได้ทั้งนั้น ท่านเปรียบเสมือนยาดำที่เข้าแทรกยาทุกขนาน ฉะนั้นเมื่อจะใช้คาถาบทใดๆจะเป็นในทางใดก็ตาม ให้เอายอดพระคาถานี้กำกับไปด้วยเสมอไป จะเกิดความขลังเหมือนใจนึก (จากหนังสือ คู่มือชายชาตรี หน้า 60 โดยอาจารย์เทพย์ สาริกบุตร ร้านศิลปาบรรณาคาร พ.ศ.2513)

ส่วนพระคาถาที่แกะสลักอยู่ด้านหลังเหรียญหลวงพ่อทวดวัดช้างให้ รุ่น 3 แตกต่างจากเหรียญรุ่น 2 เล็กน้อย อ่านได้ว่า “นะโมพุทธายะ นะโมพะทะ จะภะกะสะ”

สำหรับนักสะสมมือใหม่ที่ไม่แม่นพิมพ์และตำหนิมากนัก จุดตายจุดหนึ่งที่หลายคนอาจไม่ทราบ หรือไม่ได้สังเกต ก็คือ ด้านหลังของเหรียญรูปพระอาจารย์ทิม ที่ขอบเหรียญด้านบนที่ติดกับคอหูเหรียญ ทั้งด้านซ้ายและขวา จะมีรอยปลิ้นกลับของครีบขอบเหรียญ ซึ่งจะเป็นแทบทุกเหรียญที่เป็นเหรียญแท้
ยกเว้นเหรียญที่สึกมากๆ อาจปรากฏไม่ชัด หรือไม่ปรากฏเลย ครับผม

นะโม โพธิสัตโต อาคันติมายะ อิติภะคะวา



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น