ชีวิตของเราทั้งหลายนั้นมันไหลไปตามกระแสแห่งความอยาก คือ ตัณหา มันจึงดิ้นรน วุ่นวาย เป็นทุกข์ทรมาน เพราะว่าเรา ไม่มีสติมากันกระแสแห่งตัณหา คือ ความอยาก เรามาปฏิบัติ วิปัสสนากัมมัฏฐานจุดมุ่งหมายก็เพื่อที่จะชำระจิตใจของเรา ให้บริสุทธิ์ ให้สะอาด หรือมาปิดกั้นเสีย ซึ่งกระแสแห่งตัณหา คือ ความอยาก จำเป็นที่จะต้องปลูกสติ สร้างสติขึ้นให้แก่กล้า จึงจะสามารถปิดกั้นเสีย ซึ่งกระแสแห่งตัณหาได้ การปฏิบัติธรรม ท่านครูบาพรหมา(หลวงพ่อพระพุทธบาทตากผ้า) ได้เทศนาไว้มาก พอจะสรุปได้ว่า ขั้นแรกท่านได้ตั้งใจสมาทานอธิษฐานเอาธุดงค์ธรรมตามกำลังที่จะปฏิบัติได้ แล้วได้ฝึกหัดเป็นคนสันโดษมักน้อย อยู่ง่าย ฉันง่าย ปรับปรุงจิตใจให้เข้ากับธรรมชาติ พยายามฝึกจิตให้อาจหาญเป็นสมถภาวนา มีพุทธานุสติและอภิณหปัจเวกขณ์ เป็นต้น แล้วพิจารณาสังขาร รูป นาม ให้เห็นเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ตามระเบียบวิธีแห่งการปฏิบัติธรรม ทั้งนี้มิใช่มุ่งหมายอย่างอื่นหากมุ่งหมายความที่พระพุทธองค์ตรัสว่า
"ภิกษุทั้งหลาย พรหมจรรย์นี้เราประพฤติมิใช่เพื่อหลอกลวงคน มิใช่เพื่อเรียกร้องให้คนนับถือ มิใช่เพื่อลาภสักการะและความสรรเสริญเยินยอ ที่แท้พรหมจรรย์นี้เราประพฤติเพื่อสังวรคือความสำรวมเพื่อปหานะคือความละเว้น และเพื่อนิโรธะคือความดับทุกข์"
ครูบาเจ้าพรหมจักรได้บำเพ็ญสมณธรรมจนเข้าสู่วัยชราภาพ สังขารของท่านชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา อาการเจ็บไข้ได้ป่วยจึงเกิดขึ้นเป็นธรรมดา ท่านครูบาเจ้าได้เข้ารับการรักษา ณ โรงพยาบาลนครเชียงใหม่ ก่อนที่ท่านครูบาท่านจะละสังขาร ท่านครูบาได้ตื่นจากจำวัด แต่เช้าปฏิบัติธรรมตามกิจวัตร เมื่อถึงเวลาท่านลุกนั่งสมาธิ สำรวมจิตตั้งมั่นสงบระงับ ครูบาเจ้าพรหมจักรได้ดับขันธ์ (มรณภาพ) ในท่านั่งสมาธิภานา เมื่อวันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๒๗ เวลา ๐๖.๐๐ น.อายุ ๘๗ ปี ๖๗ พรรษา คณะศิษยานุศิษย์ได้ตั้งศพบำเพ็ญกุศลเป็นเวลา ๓ ปี ได้รับพระราชทานเพลิงศพ วันที่ ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๑ ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จมาพระราชดำเนินพระราชทานเพลิงครูบาเจ้าพรหมจักรด้วยพระองค์เอง หลังจากพระราชทานเพลิงเสร็จสิ้นแล้วได้เก็บอัฐิ ปรากฏว่าอัฐิของครูบาเจ้าพรหมจักรได้กลายเป็นพระธาตุ มีวรรณะสีต่างๆ หลายสี
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น