หลวงพ่อทวดนวล พิมพ์ซุ้มเรือนแก้ว (กรรมการ) ปี 2507 วัดตุยง ปัตตานี

หลวงพ่อทวดนวล พิมพ์ซุ้มเรือนแก้ว (กรรมการ)

วัดมุจลินทวาปีวิหาร หรือ วัดตุยง เป็นวัดเก่าแก่ ตั้งอยู่ที่ หมู่ ๑ ตำบลตุยง อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี สร้างขึ้นโดยพระวิเชียรภักดี เมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๓๘๘ เพื่อเป็นวัดคู่บ้านคู่เมือง ซึ่งเดิมชื่อว่า “วัดตุยง” ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสเมืองหนองจิก มีพระราชศรัทธาบริจาคเงินเพื่อก่อสร้างพระอุโบสถ และทรงพระราชทานนามใหม่ว่า “วัดมุจลินทวาปีวิหาร” 

ปัจจุบัน “วัดมุจลินทวาปีวิหาร” เป็นอารามหลวงและมีการบูรณะพระอุโบสถให้อยู่ในสภาพที่มั่นคงและสวยงาม และได้มีการสร้างพิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวและค้นหาความรู้ 

หลวงพ่อทวดนวล เทวธมฺโม (พระครูวิบูลย์สมณวัตร) เป็นเจ้าอาวาส รุ่นที่ 3 สำหรับพระเครื่องรุ่นนี้ จัดสร้างโดยหลวงพ่อดำ เจ้าอาวาส รุ่นที่ 5 ท่านได้นำพระภิกษุสามเณร พร้อมกับชาวบ้านเดินทาง ไปหาว่านต่าง ๆ บนภูเขา หลังจากใช้เวลาหาว่านที่ภูเขาทรายขาว (น้ำตกทรายขาวเป็นที่ท่องเที่ยว และรัชกาลที่ 5 ทรงเคยเสด็จประพาส และใกล้กับวัดช้างให้) อยู่นานถึง 7 วัน 7 คืนก็ยังไม่สามารถหาว่านได้ครบจำนวน 120 ชนิด ทั้งหมดจึงเดินทางไปหาที่ภูเขาตาชีเพิ่มเติม จนกระทั่งได้ว่านครบทั้ง 120 ชนิด รวมไปถึงเกสรดอกไม้ 120 ชนิด 

มวลสารที่นำมาจัดสร้างวัตถุมงคลนี้มีส่วนผสมที่เป็นหลักใหญ่คือ ว่าน 120 ชนิด เกสรดอกไม้ 120 ชนิด และเครื่องยาสมุนไพร 120 ชนิด รวมไปถึง คดไม้ผูกใบลาน คนทีดำ กากยาคนธรรพ์ ว่านศักดิ์สิทธิ์ 108 ชนิด ผงพุทธคุณผงอิทธิเจ ผงปถมัง ผงตรีนิสิงเห และผงแก่นไม้ขนุนที่กลายเป็นหิน ที่หลวงพ่อดำ ท่านเก็บรักษาเอาไว้และปลุกเสกอยู่นานหลายปี โดยมีชาวบ้านช่วยกันบดมวลสารทั้งหมดให้เข้ากัน หลังจากนั้นได้ใช้น้ำผึ้งรวง และกล้วยหอมเป็นเครื่องผสมผง เพื่อให้จับตัวกันแน่น 

สำหรับพิธีในการจัดสร้างนั้น หลวงพ่อทวดนวลได้เข้าประทับทรงแล้วบอกให้ทำในพระอุโบสถ โดยไม่อนุญาตให้ฆราวาสเข้าไปยุ่งอย่างเด็ดขาด 

โดยเริ่มกดพิมพ์ตั้งแต่ พ.ศ. 2505 – 2507 (รวมเวลา 3 ปี) จนกระทั่งวันเสาร์ 5 เดือน 5 ขึ้น 5 ค่ำ ปี 2507 

หลวงพ่อดำได้นิมนต์พระเกจิอาจารย์ จากวัดต่าง ๆ ทั่วภาคใต้จำนวน 120 รูป อาทิ 

พระอาจารย์ทิม วัดช้างให้ (กล่าวกันว่า พระอาจารย์ทิม ได้อัญเชิญวิญญาณหลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด เข้าประทับทรงในการนี้ด้วย) 
พ่อท่านหมุน วัดเขาแดงตะวันออก 
หลวงพ่อแสง วัดคลองน้ำเจ็ด 
พ่อท่านเส้ง วัดแหลมทราย 
พ่อท่านบุญ วัดไม้แก่น 
หลวงพ่อแดง วัดเชิงเขา 
หลวงพ่อแดง วัดศรีมหาโพธิ์ 
พระอาจารย์นอง วัดทรายขาว 
หลวงพ่อฉิ้น ยะลา 
หลวงพ่อคลิ้ง วัดถลุงทอง 
พระอาจารย์นำ วัดดอนศาลา 
หลวงพ่อเขียว วัดหรงบน 
หลวงปู่จันทร์ วัดทุ่งเฟื้อ 
หลวงพ่อมุ่ย วัดบางบูชา 
หลวงพ่อแก่น วัดทุ่งเหลือ เป็นต้น 

พระอาจารย์ร่วมกันสวด 7 ตำนาน 12 ตำนาน ตลอดถึงพระสูตรต่าง ๆ ที่นับถือกันว่าศักดิ์สิทธิ์ หลังจากสวดมนต์ก็ได้ทำพิธีพุทธาภิเษก จนดึก โดยมีพระเกจิอาจารย์นั่งล้อมวัตถุมงคลชนิดที่ไม่มีช่องว่างเลย เสร็จแล้วจึงปิดพระอุโบสถ ในวันที่สองและวันที่สามก็ทำเช่นนี้ จนครบ 3 วัน ก่อนจะแจกให้ประชาชนไปบูชา

หลวงพ่อทวดนวล ปี 2507 เป็นพระเครื่องที่ได้รับการปลุกเสกจากพระเกจิอาจารย์ต่างๆที่ได้เข้าร่วมพิธีปลุกเสก หลวงพ่อทวดวัดช้างให้ตั้งแต่รุ่นแรก ปี 2497

พระเครื่องหลวงพ่อทวดนวล จึงมีอานุภาพมาก ในทางคงกระพัน แคล้วคลาด ปลอดภัยในการเดินทาง ทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ และช่วยหนุนนำ ผู้มีเคราะห์ ให้พ้นจากทุกข์โศก ตลอดจนมีโชคมีลาภ เป็นโภคทรัพย์ 

สำหรับพิมพ์ทั้งหมดในการจัดสร้างนั้นมี 5 พิมพ์ คือ 
1) รูปเหมือนหล่อโบราณ 
2) พิมพ์กรรมการ หรือซุ้มเรือนแก้ว 
3) พิมพ์ใหญ่ 
4) พิมพ์กลาง 
5) พิมพ์เล็ก 

สำหรับพิมพ์ที่หายากที่สุด คือ รูปเหมือนหล่อโบราณ กล่าวกันว่า สร้างเพียงประมาณ 200 องค์ รองลงมาคือพิมพ์กรรมการ หรือ เรียกว่าพิมพ์ซุ้มเรือนแก้ว ที่สร้างประมาณ 2,500 องค์เท่านั้นครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น