พระนางพญา วัดเวียง พระนครศรีอยุธยา

พระนางพญา วัดเวียง

นาม "พระนางพญา" เรียกชื่อกันตามพุทธลักษณะพิมพ์ทรงที่เหมือน "พระนางพญา วัดนางพญา จ.พิษณุโลก" หนึ่งในพระชุดเบญจภาคี สุดยอดพระเครื่องของเมืองไทย

"พระนางพญา วัดเวียง" ก็เช่นกัน แล้วก็ไม่ใช่พระกรุที่จะเรียกว่าพระนางพญา กรุวัดเวียง ได้ด้วย เนื่องจากมิได้นำลงบรรจุกรุ แต่เป็นการนำพระใส่โอ่งทิ้งไว้ในโบสถ์ ใครอยากหยิบก็หยิบไปได้ จึงไม่นับเป็นพระกรุครับผม

พระนางพญา วัดเวียง เป็นพระพิมพ์เก่าแก่อีกพิมพ์หนึ่งของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเรียกได้ว่ามีมาคู่กับวัดเลยทีเดียว สร้างขึ้นมาตั้งแต่ปลายกรุงศรีอยุธยา โดยพระเถระฝ่ายลาวจากเวียงจันทน์ เมื่อครั้งอพยพมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา

ว่ากันว่ามีชาวลาวจำนวนมากอพยพเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารในไทยตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเป็นต้นมา และลงหลักปักฐานทำมาหากินอยู่ตามที่ลุ่มของแม่น้ำป่าสักไล่มาจนถึงเพชรบูรณ์ สระบุรี และพระนครศรีอยุธยา โดยส่วนใหญ่จะนับถือศาสนาพุทธ ดังนั้น เมื่อสภาพความเป็นอยู่เริ่มลงตัว จึงคิดสร้างวัดวาอาราม เพื่อใช้เป็นที่ประกอบกิจทางศาสนาเยี่ยงพุทธศาสนิกชนที่ดีพึงกระทำ อาทิ วัดสะตือ วัดเวียง วัดดาวเสด็จ เป็นต้น ซึ่งจะเห็นได้ว่าแต่ละวัดที่กล่าวมานี้ก็เป็นที่คุ้นหูทั้งสิ้น โดยเฉพาะนักนิยมสะสมพระเครื่อง เช่น วัดสะตือก็จะเกี่ยวข้องกับท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) หรือ วัดดาวเสด็จก็มีพระเครื่องที่มีชื่อเสียงคือ "พระนางพญาวัดดาวเสด็จ" ใครจะทราบว่าวัดเหล่านี้สร้างโดยชาวเวียงจันทน์

วัดเวียง ก็เช่นกัน เมื่อครั้งสร้างวัดขึ้นในสมัยอยุธยานั้น ก็มีการจัดสร้างพระพิมพ์ด้วยคือ "พระนางพญา วัดเวียง" เป็นพระเนื้อดินเผา ที่เนื้อดินหยาบพอประมาณ มีทรายและแก้วแกลบเป็นเสี้ยนสีขาวผสมอยู่มาก คล้ายเนื้อดินของพระตระกูลสุโขทัย หรือพระของหลวงพ่อโหน่ง แห่งวัดคลองมะดัน จ.สุพรรณบุรี ซึ่งผิวพรรณจะนวลสะอาดแบบหม้อใหม่ปัจจุบัน และเมื่อใช้หรือผ่านการสัมผัสจะมีความแกร่งและมันวาว

หลังจากผ่านการเผาเป็นที่เรียบร้อย ก็จะนำมาใส่โอ่งดินวางไว้ 4 มุมในพระอุโบสถ ดังนั้น นอกจากจะได้รับการปลุกเสกจากพระเถระผู้สร้างเป็นอย่างดีแล้ว จะได้รับการปลุกเสกในพระอุโบสถตลอดเวลาอีกด้วย ทั้งสวดมนต์ทำวัตรเช้า-เย็น สวดปาฏิโมกข์ สวดยัด ฯลฯ ลักษณะเป็นพระพิมพ์แบบครึ่งซีก มีพุทธศิลปะคล้ายศิลปะอู่ทอง รูปทรงสามเหลี่ยม พระประธานประทับนั่ง แสดงปางสมาธิ บนอาสนะ การหักของพระกรหักเป็นมุม ช่วงต่ำกว่าข้อศอกแลดูผิด ส่วน พระเกศเป็นแบบเกศปลี พระกรรณยาวและอ่อนสลวย พระสังฆาฏิยาวจดพระหัตถ์ ลำพระองค์ สูงชะลูดและดูผึ่งผาย แบ่งได้เป็น 2 พิมพ์ คือ พิมพ์เส้นอาสนะยาวตลอดพระเพลา และพิมพ์อาสนะยาวไม่ตลอดพระเพลา

พระนางพญา วัดเวียง จ.พระนครศรีอยุธยา นับเป็นพระเก่าที่มีพุทธคุณเป็นเลิศ โดยเฉพาะที่เป็นที่กล่าวขวัญเลื่องลือกันมาก คือ เรื่องอยู่ยงคงกระพัน ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ทหารหาญจากเมืองลพบุรีและสระบุรี ได้มาเอาพระนางวัดเวียงนี้เพื่อบูชาติดตัวไปทำศึกสงคราม ปรากฏประสบการณ์ในด้านแคล้วคลาดคงกระพันชาตรีอย่างน่าอัศจรรย์ ประการสำคัญสนนราคายังไม่สูงนัก ก็ยังพอมีให้เห็นให้เช่าหากันอยู่ครับผม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น