ผ้ายันต์เกราะเพชรรูปหลวงพ่อปาน หลวงพ่อฤาษีลิงดำ |
ยันต์เกราะเพชรนี้ หลวงปู่ปานศึกษาจากตำราพระร่วง โดยเอามาจากยอด "ธงมหาพิชัยสงคราม" เป็นการนำเอา "พุทธคุณ" บทต้นมาเขียนเป็น "ตัวขอม" อ่านตามขวางว่า
อิ ระ ชา คะ ตะ ระ สา
ติ หัง จะ โต โร ถิ นัง
ปิ สัม ระ โล ปุ สัต พุท
โส มา ณะ กะ ริ ถา โธ
ภะ สัม สัม วิ สะ เท ภะ
คะ พุท ปัน ทู ทัม วะ คะ
วา โธ โน อะ มะ มะ วา
อะ วิ สุ นุต สา นุส ติ
บางคนเรียกว่า คาถาอิปิติปิโสแปดทิศ เขียนแล้ว ชักสูตร จะออกมาเป็นยันต์เกราะเพชร
ยันต์เกราะเพชร |
ท่านเป่าเฉพาะวันเสาร์ห้า คือว่าเป็นเดือนอะไรก็ตาม เป็นขึ้น ๕ ค่ำวันเสาร์ หรือวันเสาร์ตรงกับ ๕ ค่ำ อันนี้ใช้ได้ เรียกว่าท่านทำเป็นปกติ แล้วก็วันเสาร์ ๕ นี่แหละเป็นวันยกครูของท่าน ท่านจะยกครูหมอ ครูอะไรก็ตาม ก็ทำกันวันเสาร์ห้า
อีกทั้งในสมัยปัจจุบันนี้ ได้มีการประชาสัมพันธ์เป่ายันต์เกราะเพชรหลายแห่ง โดยเฉพาะผู้เขียนก็ได้พบด้วยตนเอง มีการเขียนป้ายไว้ข้างถนนบอกว่า งานนี้มีพิธีเป่ายันต์เกราะเพชรด้วย ครั้นได้ไปร่วมพิธีแล้ว กลับทำพิธีไม่เหมือนกับวัดท่าซุง แล้วก็ไม่ตรงกับวันเสาร์ห้าด้วย จึงคิดว่าไม่น่าเอาชื่อเสียงครูบาอาจารย์มาทำแบบนี้เลย
ความจริงในสมัยที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อฯ ยังมีชีวิตอยู่ ก่อนที่จะถึงวันทำพิธี "เป่ายันต์เกราะเพชร" ก่อนงานในตอนเย็น บางครั้งท่านจะทำพิธีพุทธาภิเษกในโบสถ์ก่อน โดยบอกให้ผู้ที่ร่วมพิธีด้านนอกภาวนา "พุทโธ" ไปด้วย จะสามารถรับ "ยันต์เกราะเพชร" ได้ตั้งแต่ตอนนี้เลย
ด้วยเหตุนี้ หลังจากท่านมรณภาพไปแล้ว จึงยังมีผู้คนสนใจเดินทางไปร่วมพิธีพุทธาภิเษก เพราะเชื่อว่าจะสามารถอาราธนาบารมีพระพุทธเจ้า บารมีหลวงปู่ปาน หลวงพ่อพระราชพรหมยาน รับยันต์เกราะเพชรเข้าคลุมในขณะที่ทำพิธีปลุกเสกอยู่ในบริเวณพระอุโบสถ หลังเสร็จพิธีแล้วมีหลายคนมาเล่าให้ฟังว่า มีอาการเหมือนกับที่เคยเข้าร่วมพิธีกับหลวงพ่อฯ
ฉะนั้น หลังจากพระเดชพระคุณหลวงพ่อฯ มรณภาพแล้ว มักจะมีคนสอบถามว่าเมื่อไรจะเป่ายันต์เกราะเพชร หลวงพ่อเจ้าอาวาสท่านบอกไม่ทำหรอก เพราะการเป่ายันต์เกราะเพชรจะต้องใช้สมาบัติชั้นสูง เมื่อครูบาอาจารย์ทำไว้ดีแล้ว พวกเราลูกศิษย์รุ่นหลังไม่ทำเลียนแบบ ตามมารยาทของลูกศิษย์ที่ดีเขาไม่ทำกัน ที่อื่นเขาทำนั่นก็เป็นเรื่องของเขา แต่วัดท่าซุงไม่ทำแน่นอน แล้วการทำสมัยนั้นก็เพราะมีเหตุว่า มีผู้ทำ "ไสยศาสตร์" เข้ามาที่วัดอยู่เสมอ การเป่ายันต์ก็เพื่อเป็นการป้องกันภัยในเรื่องนี้โดยเฉพาะ ในสมัยนี้ก็ไม่จำเป็นอีกแล้ว
ผู้ที่รับยันต์ไปแล้ว ถ้ารักษาไว้ได้จะมีอานุภาพดังนี้
๑. จะไม่ตายโหงอย่างเด็ดขาด
๒. จะไม่ตายด้วยพิษสัตว์ทุกชนิด
๓. ปลอดภัยจากไสยศาสตร์ทุกชนิด
๔. ไสยศาสตร์ทุกประเภท จะสะท้อนกลับไปเอง
การเป่ายันต์เกราะเพชร เป็นวิชาที่หลวงพ่อปานท่านศึกษาจากตำราพระร่วง พระเดชพระคุณหลวงพ่อพระราชพรหมยาน(หลวงพ่อฤาษี วัดท่าซุง) ได้เล่าไว้ในหนังสือประวัติหลวงพ่อปานว่า :
หลังจากหลวงพ่อปานตายแล้วปีหนึ่ง ฉันนอนนึกถึงสมุดตำราของหลวงพ่อปาน ที่อาจารย์แจงขอยืมไป ฉันนึกขึ้นมาได้ว่า ท่านขอยืมเอาไปปีหนึ่งแล้วท่านจะมาส่ง นี่ไม่เห็นท่านมาส่ง แล้วหลวงพ่อปานก็ตายแล้ว จะลองๆ ไปถามท่านว่าจะให้ไหม จะได้เอามาใช้บ้างเผื่อจะฮิตขึ้นมา
เมื่อไปถึงอำเภอสวรรคโลก พอไปถึงที่นั่น ได้ยินข่าวว่าอาจารย์แจงตายไล่ๆ กับหลวงพ่อปาน เลยแจ้งภรรยาของท่านว่า ฉันนี่เป็นลูกศิษย์หลวงพ่อปาน จะมาขอตำราคืนไป จะได้นำไปใช้ให้เป็นประโยชน์
ภรรยาของท่านก็หยิบหนังสือขึ้นมา อาจารย์แจงเขียนเป็นตัวหนังสือคล้ายๆ โบราณ บอกว่า ตำราเล่มนี้เป็นตำราของอาจารย์พระร่วง ข้าพเจ้าได้รับมอบหมายมาจากต้นตระกูล เพราะตระกูลของข้าพเจ้าเป็นตระกูลของพระร่วง ถ้าหากว่า บุคคลใดจะนำตำรานี้ไปใช้เป็นประโยชน์ ให้นำดาบ ๒ เล่มนี้ ไปรำที่กลางนอกชาน รำกลางแจ้ง ถ้ารำดาบแล้วมีฟ้าผ่ามาใกล้ๆ ฟังเสียงชัด ก็มอบตำรานี้ให้ได้
ภรรยาอาจารย์แจงบอกว่า พออาจารย์แจงตาย ก็มีคนมารำกันเยอะ ฟ้าไม่ผ่า แกก็ส่งดาบให้ ฉันก็หยิบดาบ เอาตำราไปวางไว้ที่หน้าพระพุทธรูป แล้วฉันก็จุดธูปเทียนบูชา อธิษฐานว่า ถ้าวาสนาบารมีของฉันนี้เคยเกี่ยวข้อง กับท่านเจ้าของตำราเล่มนี้มาบ้าง และควรได้รับตำรานี้ไว้เป็นสมบัติของตน และคาถาในตำรานี้ จะเป็นประโยชน์แก่ฉัน ขอให้ฟ้าผ่าลงมาขณะที่ฉันถือดาบ ออกไปกลางแจ้ง
ในที่สุด พอเดินออกไปกลางนอกชาน ไม่ทันถึง ๒ นาที ฟ้าผ่าเปรี้ยง หูอื้อไปตามๆ กัน เป็นอันว่าฉันมีสิทธิ์ในการใช้ตำรา แล้วฉันก็รับตำรามา.
การเป่ายันต์เกราะเพชร หลวงพ่อบอกว่าหมดท่านแล้วใครเอาไปทำมีผลแค่ 10 % แต่เห็นมีการเป่ากันอยู่อีก ขอเน้นว่า หลวงพ่อฤาษีลิงดำเป็นองค์สุดท้าย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น