พระลีลา สิงห์ป้อนเหยื่อ หรือ พระฝักไม้ดำ หลวงปู่แขก พระมงคลสุธี |
เมื่อน้ำลดจึงมีคราบตะกอนดินติดอยู่ที่ผิวพระ จนบางท่านเข้าใจว่าเป็นพระกรุ หรือบางท่านเข้าใจถูกแล้วแต่ด้วยธรรมชาติขององค์พระเฉกเช่นเดียวกับพระกรุ จึงเรียกเช่นนั้นต่อๆ กันมา สมัยนั้น ทางวัดมิได้สนใจกับพระพิมพ์ดังกล่าวนี้เลย ใครจะหยิบฉวยไปอย่างไร จำนวนเท่าไร ก็ไม่ว่า โดยเฉพาะเด็กวัดหยิบเอามาเล่นทอยกองกันอย่างสนุกสนาน จนในที่สุดพระก็ไม่มีเหลืออยู่เลย
พระพิมพ์จากวัดบางระกำ หรือวัดสุนทรประดิษฐ์ มี ๒ แบบ คือ พระพิมพ์สิงห์ป้อนเหยื่อ และพิมพ์สมเด็จฝักไม้ดำ-ฝักไม้ขาว
พุทธลักษณะ ของพระฝักไม้ดำ เป็นพระพิมพ์สี่เหลี่ยมชิ้นฟัก มีหลายสี ทั้งสีดำ น้ำตาล ขาว และเขียว ด้านหน้าเป็นรูปพระลีลายืนหันด้านข้าง มีอักขระล้อม ยกกรอบเส้นลวดนูนอย่างงดงาม ด้านหลังเป็นพระพุทธสามองค์นั่งเรียงกัน องค์กลางสูงกว่าเล็กน้อย พระพุทธรูป ๓ องค์ ประทับนั่งขัดเพชร บนฐาน ๓ ชั้น
องค์ซ้ายมือเป็นปางสมาธิ องค์กลางเป็นมารวิชัย และองค์ขวามือสุดปางพนมมือ ด้านบนมีอักขระว่า "มะ อุ อะ" ด้านหลังมีอักขระว่า "นะ ปะ ทะ อะ ระ หัง" เมื่ออ่านรวมจะเป็น "นะ ปะ ทะ อะ ระ หัง มะ อุ อะ" ซึ่งเป็นคาถามหาอุด
และด้านล่างมีสิงห์และเสือหันหน้าเข้าหากัน คล้ายกำลังป้อนอาหารแก่กัน เป็นเคล็ดหรือคติความเชื่อที่ว่า "สัตว์ร้ายหันหน้าเข้าหากัน เป็นเครื่องบ่งชี้ว่า มีความรักเมตตากรุณาต่อกัน เป็นเมตตามหานิยม และมหาอำนาจ" พระฝักไม้ดำจึงมีนามอีกอย่างหนึ่งว่า "สิงห์ป้อนเหยื่อ" ด้วยลักษณะอาการของสิงห์และเสือที่อยู่ด้วยกันนั่นเอง
ส่วนพุทธลักษณะของพระฝักไม้ขาว ด้านหน้าเป็นพระพุทธประทับนั่งสมาธิเพชรอยู่ในกรอบเส้นลวดนูนสองชั้น มีซุ้มแหลมครอบองค์พระอยู่ด้านใน มีอักขระกำกับด้านบนซุ้มสองข้างว่า "นะ มะ พะ ทะ" ใต้ตัว นะ ลงด้วยตัว "อุด" ใต้ตัว มะ ลงด้วยตัว "ทัง" ตรงกลางเป็น เฑาะห์
"นะ มะ พะ ทะ อุด ทัง" เป็นคาถามหาอุด ทำให้ดินปืนเปียกไม่ติดไฟ
ด้านซ้ายมือมีคาถา ๕ ตัว อ่านในแนวตั้งจากบนลงล่างว่า "ยะ ปะ ฏิ รู ปัง" ส่วนด้านขวามือมีอักขระ ๖ ตัว อ่านในแนวตั้งจากบนลงล่างว่า "พระ อะ ระ หัง ติ"
"ยะ ปะ ฏิ รู ปัง" เป็นคาถาหัวใจ บรรพชา ใช้เสกหมากกิน หรือเสกปูนกวาดคอ มีอุปเท่ห์การใช้ คือ ตั้ง "นะ โม ๓ จบ เสก ๗ จบ" ป้ายลูกกระเดือกก่อนออกรบทัพจับศึก ทำให้อยู่คง คาถาบทนี้อยู่ได้เพียงชั่วเบา (ปัสสาวะ)
"พระ อะ ระ หัง ติ" เป็นคาถาแคล้วคลาดจากภัยอันตรายทั้งปวง
พระฝักไม้ดำ-พระฝักไม้ขาว มีพุทธคุณเด่นทางมหาอุด และคงกระพันชาตรี เคยมีเรื่องเล่าลือกันว่า สมัยก่อนบรรดาจอมพลต่างแขวนห้อยคอกันแทบทั้งนั้น รวมทั้งสั่งให้ลูกน้องเสาะหามาใช้เช่นเดียวกับพระร่วงหลังรางปืน และน่าจะด้วยเหตุผลนี้นี่เอง จึงทำให้พระพิมพ์กรุบางระกำกลายเป็นตำนานหนึ่งของพระเครื่องเมืองไทยไปแล้วในขณะนี้
“พระมงคลสุธี” หรือ "หลวงปู่แขก ปภาโส" เจ้าอาวาสวัดวัดสุนทรประดิษฐ์ ส่วนชื่อจริงท่านคือ "ลำยอง" ก่อนหน้านี้ลูกศิษย์มักจะเรียกท่านว่า "หลวงพ่อลำยอง" หรือ "หลวงพ่อยอง" ส่วนชื่อหลวงปู่แขกนั้น ลูกศิษย์เพิ่งมาเรียกเมื่อ ๑๐ กว่าปีที่ผ่านมานี้เอง เพราะใบหน้าท่านคล้ายคนแขกนั่นเอง
หลวงปู่แขกท่านเป็นลูกศิษย์หลวงพ่อกุย วัดปากลัด อ.โพธิ์ทะเล จ.พิจิตร ซึ่งเป็นลูกศิษย์หลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน นอกจากนี้ท่านยังเป็นสหธรรมมิกกับพระครูประกาศสมาธิคุณ วัดมหาธาตุฯ กทม. จึงเชี่ยวชาญเรื่องเตโชกสิณไฟเช่นเดียว รวมทั้งเป็นสหธรรมมิกกับ อ.ไสว สุมโน วัดราชนัดดา กทม. ทุกครั้งที่ อ.ไสว สร้างพระจะมีหลวงปู่แขกจารแผ่นยันต์ และร่วมนั่งปรกด้วย เช่น พระกริ่งศรีนคร พ.ศ. ๒๕๑๖
ขณะเดียวกัน ท่านยังเป็น ๑ ใน ๑๐๘ รูป ของพระเกจิอาจารย์ ในพิธีจักรพรรดิมหาพุทธพิเษก ณ พระวิหารพระพุทธชินราช เมืองพิษณุโลก เมื่อวันที่ ๑๙-๒๐ มกราคม ๒๕๑๕ ในการจัดสร้างพระกริ่งนเรศวร วังจันทร์ ที่ยังมีชีวิตอยู่ไม่กี่รูป
สำหรับวัตถุมงคลหลวงปู่แขก ท่านได้สืบสานตำนานพระเครื่องพิมพ์สิงห์ป้อนเหยื่ออันลือชื่อของเมืองสองแคว โดยใน พ.ศ. ๒๕๐๓ ท่านได้นำพระที่ชำรุดแตกหักมาบดเป็นผงผสมกับผงของท่าน สร้างพระพิมพ์สิงห์ป้อนเหยื่อขึ้นมาใหม่อีกครั้งหนึ่ง
วัตถุมงคลยุคแรก ๆ คือ พระสิงห์ป้อนเหยื่อ รุ่นแรก เนื้อผสมผงเก่า ทำมือ สร้างปี ๒๕๐๓ เหรียญรูปเหมือนรุ่นแรก พิมพ์กลม พ.ศ.๒๕๒๒, พระสิงห์ป้อนเหยื่อฝักไม้ขาว-ฝักไม้ดำ พ.ศ. ๒๕๓๔ พระกลีบบัวฝักไม้ขาว พ.ศ.๒๕๓๔ พระพุทธชินราชอกเลา รุ่นแรก พ.ศ.๒๕๓๔ รูปหล่อรุ่นแรก ฯลฯ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น