เหรียญพระมหาชนก

เหรียญในหลวง พระมหาชนก เนื้อเงิน 2539

พระมหาชนก คือ พระโพธิสัตย์ หนึ่งในพระชาติ 10 ชาติสุดท้ายก่อนจะทรงอุบัติขึ้นเป็น พระสิทธัตถะ คือพระชาติที่ทรงเป็น สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า สำหรับเรื่องราวของพระมหาชนกนั้นเป็นวรรณคดีในพุทธศาสนา เรื่องการบำเพ็ญพระบารมีในส่วนของ “พระวิริยะบารมี” ซึ่งเป็นหนึ่งในทศชาติชาดก โดยเรื่องราวกล่าวถึง พระมหาชนกทรงบำเพ็ญพระวิริยะบารมีอย่างยิ่งยวด (ขั้นอุกฤษณ์) ซึ่งในทางพุทธศาสนา เรียกว่า “วิริยะปรมัตถบารมี” อันมีความหมายว่า “พระมหาชนกทรงบำเพ็ญวิริยะบารมีอย่างสูงสุดจนเกิดประโยชน์อันยิ่งใหญ่ไพศาล คือการตรัสรู้ธรรมในพระชาติสุดท้าย คือพระพุทธเจ้า ก่อนจะถึงพร้อมด้วยพระนิพพาน ก็คือการหลุดพ้นจากวัฏฏะสงสาร การเวียนว่ายตายเกิด อันเป็นอุดมธรรมอันสูงสุดในทางพุทธศาสนา”

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ทรงมีพระราชศรัทธาปสาทะในพระราชจริยวัตรของพระมหาชนก ในทางการบำเพ็ญพระวิริยะบารมีและทรงยึดถือพระจริยวัตรเป็นแบบอย่างในการทรงประพฤติ ปฏับัติของพระองค์ในฐานะพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็น “สมเด็จพระบรมธรรมิกราช แห่งแผ่นดินไทย” ซึ่งพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่ที่ทรงบำเพ็ญแก่ประเทศชาติและประชาชนไทย เป็นเอนดอนันต์ในระยะเวลาที่ทรงครองราชย์ เป็นสิ่งที่ยืนยันในพระวิริยะอุตสาหะของพระองค์ ที่ทรงเจริญตามรอยพระวิริยะบารมีแห่งพระมหาชนกโดยแท้จริง

เหรียญพระมหาชนกได้จัดทำคู่กับหนังสือพระมหาชนก ฉบับพระราชนิพนธ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ด้านหนึ่งของเหรียญเป็นพระบรมสาทิสลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระอริยบถทรงงานมีพระเสโท(เหงื่อ) แสดงให้เห็นว่าแม้พระองค์จะทรงเหน็ดเหนื่อยเพียงใด ก็ถึงพร้อมด้วยความเพียรมิได้ทรงย่อท้อต่อการทรงงาน โดยเฉพาะโครงการพระราชดำริต่างๆ ทั่วพระราชอาณาจักรเป็นแม่แบบในการทำมาหากินของพสกนิกรของพระองค์ ภายใต้พระบรมสาทิสลักษณ์มีอักษร 3 ภาษา ความว่า “วิริยะ” (ภาษาไทย) ภาษาฮินดู-อักษรเทวนาครี และ “Preserverance” อันมีความหมายเดียวกันว่า “ความเพียร” หรือ “วิริยบารมี” ที่พระมหาชนกทรงบำเพ็ญตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์ 
อีกด้านของเหรียญเป็นภาพนูนต่ำของ พระมหาชนกทรงบำเพ็ญวิริยบารมีด้วยการว่ายน้ำในมหาสมุทร ภายหลังจากเรือสำเภาพระราชพาหนะแตกและล่มอับปางลงในมหาสมุทร และทรงสนทนาธรรม พร้อมกับทรงว่ายน้ำ กับนางมณีเมขลา โดยศิลปินได้ปั้นจำลองจากแบบร่างฝีพระหัตถ์ของ “สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์” สมเด็จครูนายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม ซึ่งทรงวาดร่างไว้ขณะยังทรงพระชนม์ชีพอยู่

สำหรับศิลปินผู้ออกแบบปั้นเหรียญพระมหาชนก ตือ “ศาสตราจารย์นนทิวรรธน์ จันทนะผลิน”อาจารย์ประจำแห่ง คณะจิตรกรรมประติมากรรม ภาพพิมพ์และภาพไทย มหาวิทยาลัยศิลปากร (วิทยาเขตวังท่าพระ) จัดสร้างด้วยเนื้อโลหะอันทรงคุณค่า 3 ชนิด คือ เนื้อทองคำ มีความบริสุทธิ์ ร้อยละ 99.99 น้ำหนัก 34 กรัม เนื้อนาก อันมีส่วยผสมของทองคำ ร้อยละ 40 น้ำหนัก 24 กรัม และเนื้อเงิน มีความบริสุทธิ์ ร้อยละ 99.99 น้ำหนัก 23 กรัม โดยมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 29 มิลลิเมตร ด้านบนเหรียญประดับพระปรมาภิไธยย่อ “ภ.ป.ร.” พร้อมรัศมีเป็นเรือนยอด มีการตกแต่งผิวแบบด้าน ลักษณะงดงามอลังการแฝงไว้ด้วยความมีชีวิตชีวา มีพลังแห่งความเพียรเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิตและการฟันฝ่าอุปสรรค สมดั่งพุทธภาษิตที่มีมาในพระธรรมบทว่า “วิริเยนทุกขมจติ” อันมีความหมายว่า “บุคคลย่อมล่วงพ้นจากความทุกข์ได้ด้วยความเพียร”

เหรียญพระมหาชนกเป็นเหรียญที่จัดสร้างขึ้นควคู่กับหนังสือ “พระมหาชนกฉบับพระราชนิพนธ์ฯ”เมื่อแรกเปิดให้ผู้สนใจสั่งจอง 2 แบบ 2 ราคา คือ 
1. ชนิดราคา 50,000 บาท ประกอบด้วย หนังสือพระมหาชนกฉบับพระราชนิพนธ์ฯ เล่มสีน้ำเงิน จำนวน 1 เล่ม พร้อมเหรียญพระมหาชนก 3 กษัตริย์ คือ เหรียญพระมหาชนก เนื้อทองคำ 1 เหรียญ เนื้อนาก 1 เหรียญ และเนื้อเงิน 1 เหรียญ บรรจุอยู่ในกล่องเดียวกัน 
2.ชนิดราคา 5,000 บาท ประกอบด้วย หนังสือพระมหาชนกฉบับพระราชนิพนธ์ฯ เล่มสีแดง จำนวน 1 เล่ม พร้อมเหรียญพระมหาชนกเนื้อเงิน 1 เหรียญ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จฯเป็นองค์ประธานในการประกอบพระราชพิธีชัยมังคลาภิเษก ณ พระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร ในวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2539 โดยท่านเจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯทรงเป็นองค์ประธานฝ่ายสงฆ์และประทับอธิฐานจิตเจริญภาวนาชัยมงคลภิเษก ร่วมกับพระคณาจารย์ผู้ทรงวิทยาคุณ จำนวน 9 รูป และระหว่างพิธีมีสายฝนโปรยปรายตลอดเวลาเสมือนหนึ่ง เป็นน้ำเทพมนต์จากฟากฟ้าร่วมอนุโมทนาในพิธีเป็นมหามงคล ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณเสด็จฯประทับเป็นองค์ประธาน ทรงจุดเทียนชัยในพิธีชัยมังคลาภิเษก ทรงพระสุหร่าย ทรงเจิมและทรงโปรยข้าวตอกดอกไม้ นับเป็นมหาสิริมงคลอันยิ่งใหญ่ เป็นพระมหากรุณาธิคุณยิ่งนัก ยังผลให้เหรียญพระมหาชนกและหนังสือพระราชนิพนธ์ ถึงพร้อมด้วยพระมหากษัตริยาธิคุณ อันยิ่งใหญ่แห่งองค์สมเด็จพระบรมธรรมิกราช พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 

นอกจากนี้เหรียญพระมหาชนก มีความพิเศษกว่าเหรียญที่ระลึกโดยทั่วๆไป คือเป็นเหรียญพลังแห่งความเพียร ด้วยเหตุนี้ เมื่อถึงวันปิดจองแล้วผู้ที่ไม่ได้จองต่างเสียดายตามๆกัน เพราะจัดสร้างตามจำนวนสั่งจอง จึงแสดงความจำนงไปยังคณะกรรมการจัดสร้างที่ได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจัดสร้างเพิ่มเติม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระบรมราชานุญาตแต่ให้ลดขนาดเหรียญและขนาดหนังสือ เล็กลงกว่าการสร้างครั้งแรกและทรงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯให้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เสด็จฯทรงประกอบพิธีชัยมังคลาภิเษก ณ พระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร โดยท่านเจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ ทรงเป็นองค์ประธานฝ่ายสงฆ์ ปัจจุบันเหรียญพระมหาชนกทั้งสองขนาด ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น