พระลีลา กรุวัดถ้ำหีบ จ.สุโขทัย


พระลีลา กรุวัดถ้ำหีบ จ.สุโขทัย เนื้อชิน

พระลีลา กรุวัดถ้ำหีบ จ.สุโขทัย เนื้อดิน

พระลีลา วัดถ้ำหีบ เป็นพระกรุเก่าแก่ของจังหวัดสุโขทัยที่ได้รับการยกย่องว่ามีพุทธลักษณะงดงามมาก ลายเส้นมีความอ่อนไหว ชัดเจน กลมกลืน และรับกันอย่างหาที่ติไม่ได้ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์แห่งศิลปะสกุลช่างสุโขทัยบริสุทธิ์โดยแท้ และถึงแม้จะมีถิ่นกำเนิดอยู่ที่สุโขทัย แต่จะหาได้ยากยิ่งและไม่ค่อยแพร่หลายในสุโขทัยนัก สันนิษฐานว่า หลังจากที่มีการขุดพบแล้วน่าจะนำออกมากระจายนอกเขตจังหวัดและในกรุงเทพมหานครเสียเป็นส่วนใหญ่ ในด้านของพุทธคุณเป็นที่ปรากฏว่าเป็นเลิศทั้งโภคทรัพย์และเมตตามหานิยม ทำให้ "พระลีลา วัดถ้ำหีบ" ได้รับความนิยมและเป็นที่แสวงหาในแวดวงนักนิยมสะสมพระเครื่องมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

พระลีลากรุวัดถ้ำหีบ มีการขุดค้นพบที่ "วัดถ้ำหีบ" ซึ่งเป็นวัดที่เก่าแก่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี แต่ไม่ได้รับการบูรณะซ่อมแซม ณ ปัจจุบันจึงเหลือเพียงซากปรักหักพังไม่หลงเหลือร่องรอยแห่งความเจริญรุ่งเรืองเมื่ออดีตไว้เลย นอกจากนี้ ยังมีการขุดค้นพบที่วัดเจดีย์งามและวัดพระบาทน้อยอีกด้วย

พระลีลา วัดถ้ำหีบ เป็นพระพิมพ์แบบครึ่งซีก ความสูงประมาณ 8 ซ.ม. และกว้างประมาณ 3 ซ.ม. พิมพ์ทรงเป็นรูปยาวรี ยอดแหลม พุทธลักษณะ องค์พระประธานประทับยืน แสดงปางห้ามพระไม้แก่นจันทน์ เหนือฐานหมอนชั้นเดียว พระเกศเป็นแบบ "เกศปลี" อยู่บนมุ่นเมาลีอีกชั้นหนึ่ง ต่อลงมาเป็นเม็ดพระศกยกนูนสูงขึ้นและเห็นเป็นไรอยู่ในที พระพักตร์เป็นรูปไข่ลักษณะยาวรีแบบ "หน้านาง" ตามแบบศิลปะสมัยสุโขทัย พระเนตรเป็นแบบ "เนตรเนื้อ" ลักษณะยาวรี พระนาสิกโด่งเป็นสัน พระโอษฐ์พริ้ม ลักษณะใกล้เคียงกับปากมนุษย์ พระกรรณยาวลงมาจรดพระอังสา สร้อยพระศอเป็นเส้นนูนชัด พระกรข้างขวาทอดลงตามลำพระองค์ ส่วนพระกรข้างซ้ายยกขึ้นและผายฝ่าพระหัตถ์ออก แสดงปางห้ามพระไม้แก่นจันทน์ได้อย่างอ่อนช้อยงดงามมาก พระบาทข้างซ้ายทรงอยู่ ส่วนพระบาทข้างขวายกขึ้นเล็กน้อย แสดงให้เห็นถึงพระอิริยาบถว่ากำลังเสด็จพระราชดำเนิน มีลักษณะเป็นพระลีลาก้าวย่างไปข้างหน้าทางด้านซ้ายเช่นเดียวกับพระกำแพงศอกของ จ.สุพรรณบุรี ปรากฏลายเส้นแสดงให้เห็นเป็นพระสังฆาฏิต่อลงมาจากพระกรข้างซ้ายขนานลงมาตามลำพระองค์ลากยาวลงเป็นชายจีวร ลักษณะเป็นเส้นหนักบ้างแผ่วบ้าง แลดูอ่อนสลวยและมีชีวิตชีวายิ่งนัก

พระลีลา วัดถ้ำหีบ ที่พบมีทั้งหมด 3 พิมพ์ แบ่งเป็น 2 เนื้อ คือเนื้อดินและเนื้อชิน ส่วนใหญ่พระเครื่องที่พบจะเป็นเนื้อดินซึ่งมีทั้งหยาบและละเอียด บางองค์มีการล่องชาดและปิดทองมาแต่ในกรุ ส่วนที่เป็นเนื้อชินมีจำนวนน้อยมาก พระทั้งหมดที่ขุดค้นพบมักมีสภาพที่สมบูรณ์แทบทุกองค์ อาจเนื่องด้วยกรุที่บรรจุมีความมิดชิด องค์พระจึงไม่ได้รับผลกระทบจากสภาพแวดล้อมต่างๆ ภายนอกกรุ และเนื่องจาก "พระลีลา วัดถ้ำหีบ" บรรจุอยู่ในกรุเป็นเวลายาวนานหลายร้อยปี จึงปรากฏคราบนวลดินบางๆ เกาะติดอยู่บนผิวขององค์พระเช่นเดียวกับพระเนื้อดินทั่วไปอันเป็นเอกลักษณ์สำคัญ สำหรับองค์ที่ไม่ได้ผ่านการใช้หรือสัมผัสเลยสีของนวลดินจะอ่อนกว่าองค์ที่ผ่านการใช้หรือได้รับการสัมผัสแล้ว ดังนั้น นอกจากจะพิจารณาพุทธลักษณะขององค์พระแล้ว ต้องสังเกตที่ "คราบของนวลดิน" บนองค์พระ เพราะจุดนี้ถือได้ว่าเป็น "จุดตาย" ที่ทำเทียมเลียนแบบยาก

พุทธคุณเป็นที่ปรากฏ เป็นเลิศทั้งโภคทรัพย์และเมตตามหานิยม ทำให้ "พระลีลา วัดถ้ำหีบ" ได้รับความนิยมและเป็นที่เสาะแสวงหาในแวดวงนักนิยมสะสมพระเครื่องมาตั้งแต่อดีตจวบจนถึงปัจจุบัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น