วัดหนองน้ำส้ม อีกหนึ่ง “สำนักตักสิลา” แห่งเมืองกรุงเก่า


แหวนวัดหนองน้ำส้ม รุ่นบูรณะอุโบสถ ไตรมาส 2553
ในอดีตวัดหนองน้ำส้มมีเจ้าอาวาสและพระเกจิอาจารย์เข้มขลังวิทยาคมพำนักอยู่ โดยไม่มีใครล่วงรู้มาก่อน เนื่องจากทุกท่านล้วน “เก็บตัว” อยู่อย่างเรียบง่ายและสมถะ ไม่ค่อยเปิดเผยตัวและความเก่งกล้าให้เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาญาติโยมและคนต่างถิ่น ยกเว้นคนในท้องถิ่นหากเอ่ยชื่อ หลวงพ่อทิพย์ หลวงพ่ออาจ และหลวงพ่อสอนเชื่อได้ว่าทุกคนรู้จักคุ้นเคยกันดี เพราะท่านเหล่านั้นสืบสานพุทธาวิทยาคมสายตรงจาก พระอุปัชฌาย์กลั่น (หลวงพ่อกลั่น) วัดพระญาติการาม สุดยอดอมตะเถรจารย์แห่งพระนครศรีอยุธยา

วัดหนองน้ำส้มแห่งนี้ยังเป็นสถานที่ประดิษฐาน “หลวงพ่อดำ” พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ทำจากโลหะสีดำปางมารวิชัยแต่ทาสีทองทับเอาไว้ ตั้งตระหง่านเป็นพระประธานในพระอุโบสถ ขึ้นชื่อเรื่อง “สมหวังดังใจ” ไม่ว่าใครเดือดร้อนจากที่ไหน หากไปจุดธูปเทียนกราบไหว้บนบานศาลกล่าว มักจะสำเร็จสมประสงค์สมปรารถนากันทั่วหน้าทุกราย ไม่เว้นแม้เรื่องโชคลาภ ร่ำรวย เมตตา ค้าขาย

ในยุคของ พระครูอุทัยคณารักษ์ (จำรัส) เป็นเจ้าอาวาสและเจ้าคณะอำเภออุทัย จ.พระนครศรีอยุธยา ได้พัฒนาถาวรวัตถุและความเจริญให้วัดเรื่อยมา ตลอดจนสร้างพิพิธภัณฑ์วิถีชีวิตชาวบ้าน อุปกรณ์การทำเกษตรกรรม เกวียนโบราณ เรือโบราณ เอาไว้ให้คนรุ่นหลังศึกษาหาความรู้และจัดเข้าค่ายพุทธบุตรอบรมกล่อมเกลาจิตใจเยาวชนเป็นประจำ

ด้วยความเปี่ยมล้นด้วยเมตตาและใจบุญ พระครูอุทัยคณารักษ์ ยังรับเลี้ยง “สุนัขจรจัด”ไว้ หลายร้อยตัว แม้ท่านรู้เต็มอกว่าเป็นภาระ แต่ก็ยินดีดูแล อีกทั้งท่านสละทุนทรัพย์ส่วนตัวสนับสนุนทุนการศึกษาเด็กนักเรียนยากจน หลายคนได้ดิบได้ดีเป็นเศรษฐี เป็นข้าราชการใหญ่โตก็มากมาย เรียกได้ว่าชั่วชีวิตของท่านอุทิศตนเพื่อส่วนรวมและทำประโยชน์นานัปการให้ท้องถิ่น สมเป็น “พุทธบุตร” โดยแท้

จวบจน พระครูอุทัยคณารักษ์ ถึงแก่กาลมรณภาพท่ามกลางความเศร้าโศกเสียใจของคนใกล้ชิด คณะศิษย์ ญาติโยมและผู้ศรัทธา ในช่วงเย็นวันที่ ๓ ต.ค. ๒๕๕๓ รวมสิริอายุ ๗๔ ปี ทางวัดได้จัดพิธีสวดพระอภิธรรมเป็นเวลา ๑๐๐ วัน ก่อนบรรจุสังขารในโลงทองประดิษฐานบนศาลาการเปรียญ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น