หลวงพ่อกลั่น วัดพระญาติ 2469 พิมพ์ขอเบ็ด

หลวงพ่อกลั่น วัดพระญาติ 2469 พิมพ์ขอเบ็ด
พระอุปัชฌาย์ กลั่น ธมฺมโชติ หรือที่เรียกกัน ติดปากสั้นๆ ว่า หลวงพ่อกลั่น นั้น ท่านเกิดเมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๐ ตรงกับปีมะแม ที่ ต.อรัญญิก อ.นครหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา ทั้งพ่อและแม่มีฐานะยากจน

เมื่อสมัยเด็ก หลวงพ่อกลั่นต้องออกทำงานหาเลี้ยงชีพด้วยการรับจ้างทั่วไป เพื่อเลี้ยงชีพและส่งเสริมครอบครัวจนกระทั่งถึงวัยหนุ่ม ท่านใช้ชีวิตแบบตัวตนคนเดียว เร่ร่อน และรับจ้างทำงานไปเรื่อยๆ ทำให้หลวงพ่ออุปัชฌาย์ กลั่น กลายเป็นคนแข็งแรง บึกบึนและเด็ดเดี่ยว ต้องต่อสู้จนมีชื่อเสียงในหมู่นักเลงว่าหนังเหนียว จนกระทั่งอายุครบ ๒๗ ปี ประมาณ พ.ศ. ๒๔๑๗ จึงตัดสินใจบวช ณ วัดประดู่ทรงธรรม ได้ฉายาว่า "ธมฺมโชติ" ซึ่งหมายความว่า "เป็นผู้สร้างในทางธรรมหรือเจริญรุ่งเรืองในธรรม"

หลวงพ่อกลั่น เป็นพระพูดน้อย สมถะ ได้ศึกษาวิชาอาคม จากสำนัก วัดประดู่ทรงธรรม และสำนักอื่นๆ กิตติคุณที่ปรากฏเล่าขานกันมากคือ หลวงพ่อมีความเมตตาสูง แม้แต่อีกาตาแวว สัตว์ที่ปราดเปรียวไม่เคยไว้วางใจ ใครยังเชื่อง และพากันมาอาศัย อยู่ภายในวัดนับสิบๆ ตัว ทุกเช้า-เพล จะมาคอยหลวงพ่อกลั่น รอความเมตตา จากหลวงพ่อท่านเป็นกิจวัตรประจำวัน

มีเรื่องกล่าวขานกันมากอีกเรื่องหนึ่งคือ วันหนึ่งชาวจีนมาขอน้ำมนต์ โดยนำไหใส่น้ำมาตั้งไว้ใกล้ๆ ตัว เพื่อจะมอบให้หลวงพ่อกลั่น คนจีนจึงตะโกนบอกว่า "อยากให้หลวงพ่อทำน้ำมนต์ให้" หลวงพ่อกลั่นจึงตอบกลับไปว่า "น้ำมนต์ทำให้แล้วอยู่ในไหนั่นไง" คนจีนคนนั้นชักฉุนจึงพูดทำนองว่า "ท่านอาจารย์ยังไม่ได้เป่าคาถา จุดเทียนหยดในน้ำจะบอกว่าทำน้ำมนต์ให้แล้วยังไง"

หลวงพ่อกลั่นจึงพูดลอยๆ ว่า "ไม่เชื่อก็ตามใจ"

คนจีนได้ยินดังกล่าวเกิดความไม่พอใจ โมโหมาก จึงลากลับ พอได้โอกาสจึง คว่ำไหที่เตรียมมาปรากฏว่า น้ำที่ใส่อยู่ในไหกลับไม่ยอมไหลออกมาจากไห คนจีนดังกล่าวเห็นดังนั้น จึงเข้าไปกราบขอขมากับ หลวงพ่อกลั่น นี่คือเหตุการณ์ที่ทำให้หลวงพ่ออุปัชฌาย์กลั่นยิ่งดังมากในยุคนั้น

ในการสร้างเหรียญหลวงพ่อกลั่น วัดพระญาติทางวัดสร้างเพื่อนำปัจจัยไปซ่อมแซมอุโบสถที่เก่าและชำรุดมากใน พ.ศ. ๒๔๖๙ ด้านหน้าระบุไว้ว่า "หลวงพ่ออุปัชฌาย์ กลั่น วัดพระญาติ" "พ.ศ. ๒๔๖๗" ด้านหลังระบุ "ที่รฤกในการปฏิสังขรณ์อุโบสถ"

ในการสร้างคราวนั้น มีการสร้างเหรียญหลวงพ่อกลั่นเนื้อพิเศษคือ 
เงินหน้าทอง ประมาณ ๑๒ เหรียญ 
เงินหน้านากประมาณ ๒๕ เหรียญ 
เงินประมาณ ๑๐๐ เหรียญ 
เหรียญทองแดงมีประมาณ ๓,๐๐๐ เหรียญ 

และในสมัยนั้นมีการจัดให้ทำบุญคือ เงินหน้าทองทำบุญ ๑๕ บาท ได้รับ ๑ เหรียญ และเงินหน้านากทำบุญ ๑๐ บาท ได้รับ ๑ เหรียญ เงินล้วนทำบุญ ๕ บาท ได้รับ ๑ เหรียญ ส่วนทองแดง ทำบุญ ๑ บาท ได้รับ ๑ เหรียญ เงินทำบุญทั้งหมดนำไปซ่อมแซมอุโบสถ

สำหรับจำนวนการสร้างเหรียญแต่ละชนิดนั้น มีอยู่ในบันทึกวัดพระญาติ โดยหลวงพ่ออั้น เจ้าอาวาสองค์ถัดมา ซึ่งหลวงพ่ออั้นเป็น ผู้ดำเนินการจัดสร้างให้หลวงพ่อกลั่นปลุกเสก


หลวงพ่อกลั่น วัดพระญาติการาม ท่านเป็นพระที่มีผู้เคารพศรัทธามาก หลวงพ่อกลั่นท่านเป็นพระแท้ ไม่สะสมทรัพย์สมบัติเสียสละสุขส่วนตัวเพื่อผู้อื่น ไม่ถือชั้นวรรณะ มีความเป็นสมณสังวร ใครพบเห็นก็น่ากราบไหว้ เป็นกันเองแก่คนทั่วไป เหรียญหลวงพ่อกลั่น วัดพระญาติการามจัดว่าเป็นเหรียญที่มีความนิยมสูง จัดอยู่ในห้าเหรียญพระเกจิอาจารย์ที่มีค่านิยมสูง 

เหรียญรุ่นนี้ต่อมาเรียกว่าพิมพ์ขอเบ็ด เนื่องจากด้านหลังของเหรียญบริเวณยอดของยันต์เฑาะว์ที่เป็นขยัก มีรอยแกะแม่พิมพ์เกินออกมา ลักษณะแหลมงอคล้ายขอเบ็ด จึงเป็นที่มาของการเรียกชื่อพิมพ์ของเหรียญ

1 ความคิดเห็น:

  1. ใต้หูเหรียญติดปลายยอดยันตะขอเบ็ดคืออะไร มีผลชี้วัดอย่างอย่างไรกับเหรียญ เนื่องจากอะไร เรียกชื่อเหรียญที่มีแบบเหรียญนี้ว่าอะไร มีความสำคัญไฉนขอบคุณครับอาจารย์

    ตอบลบ