พระสรรค์ยืนกับพระสรรค์นั่ง เป็นพระตระกูลเดียวกันคือ สกุลช่างอู่ทอง สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ปรากฏมีการแตกกรุออกมาหลายกรุทั้งกรุวัดท้ายย่าน วัดบรมธาตุ วัดส่องคบ วัดมหาธาตุ กรุเขื่อนชลประทาน ฯลฯ และมักมีคำกล่าวว่า "มีพระลีลาเมืองสรรค์ที่ไหนก็ต้องมีพระสรรค์นั่งที่นั่น" เนื่องจากเป็นพระที่กำเนิดจากกรุเดียวกันนั่นเอง พระสรรค์ยืนก็คือ "พระลีลาเมืองสรรค์" ส่วนพระสรรค์นั่งใช้เรียกกันโดยทั่วไป ส่วนเนื้อขององค์พระที่พบจะมีทั้งพระเนื้อดินและเนื้อชิน ทั้งดินหยาบ ดินละเอียด ชินเงิน ชินตะกั่ว "พระสรรค์นั่ง" พุทธลักษณะองค์พระประทับนั่ง แสดงปางมารวิชัย มีด้วยกันหลายพิมพ์ คือ พิมพ์ไหล่ยก พิมพ์ไหล่ยกกลาง พิมพ์ไหล่ยกเล็ก พิมพ์ไหล่ตรง พิมพ์แขนอ่อนซุ้มไข่ปลา พิมพ์ไหล่ตรงข้างเม็ด พิมพ์ที่เรียกว่าเป็นพิมพ์นิยมคือ พิมพ์ไหล่ยก ส่วนกรุที่เป็นกรุนิยมคือ กรุวัดท้ายย่าน เนื่องจากเนื้อดินละเอียดนุ่ม พระสรรค์ลีลาและพระสรรค์นั่ง พระกรุเก่ายอดนิยมของจังหวัดชัยนาท ปรากฏพุทธคุณเป็นเลิศครบครัน ทั้งเมตตามหานิยม และแคล้วคลาด คงกระพันชาตรี ปัจจุบันหาดูหาเช่ายากมาก และผู้ครอบครองก็ต่างหวงแหน นอกจากนี้ ยังมีของทำเทียมค่อนข้างมาก จะหาของแท้จริงๆ ก็ต้องใช้หลักการพิจารณาพระกรุเก่า ลักษณะพิมพ์ทรง เนื้อ และคราบกรุกันให้ดีๆ ครับผม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น