หลวงปู่สี หน้าอรหันต์

หลวงปู่สี  วัดเขาถ้ําบุญนาค หน้าอรหันต์ หรือ หน้าแก่

เหรียญหน้าแก่ (หน้าอรหันต์) ปี พ.ศ.2519 ทางวัดเขาถ้ำบุญนาค จัดสร้างไว้เป็นเหรียญเนื้อทองแดงเพียงเนื้อเดียว จำนวน 20,000 เหรียญ ลักษณะผิวเหรียญ คือ รมน้ำตาล หรือมันปู แต่ต่างกันไป เหรียญรุ่นนี้โดดเด่นด้วยพุทธศิลป์ ที่ช่างแกละ แกละพิมพ์ได้เหมือนและงดงามมาก พุทธคุณหลวงปู่สี ครบทุกด้าน ทั้งแคล้วคลาด เมตตามหานิยม เรียกได้ว่าแขวนเหรียญเดียวก็อุ่นใจแล้ว ดั่งที่เห็นประสบการณ์ที่ขึ้นเกิดมากมาย กับบรรดาลูกศิษย์ที่เคารพและศรัทธาหลวงปู่

เหรียญโบสถ์ลั่น หลวงพ่อแดง วัดเขาบันไดอิฐ

เหรียญโบสถ์ลั่น หลวงพ่อแดง วัดเขาบันไดอิฐ 2512 หลุมกอล์ฟ

หลวงพ่อเจริญ หรือ พระครูปัญญาโชติวัฒน อดีตเจ้าอาวาสวัดทองนพคุณเป็นน้องชายร่วม บิดา-มารดาเดียวกับหลวงพ่อแดง มีอายุอ่อนกว่าหลวงพ่อแดง 5 ปี มีความต้องการที่จะจัดสร้างเหรียญรูปซ้อนขึ้นเพื่อหาเงินมาสร้างและซ่อมแซมสิ่งก่อสร้างและถาวรวัตถุภายในวัดทองนพคุณ จ.เพชรบุรี จึงได้เข้าไปปรึกษาหลวงพ่อแดง ผู้เป็นพี่ชาย เมื่อตกลงกันเป็นที่เรียบร้อยแล้วหลวงพ่อเจริญจึงจัดสร้างขึ้นในปี 2512 แล้วนำไปให้หลวงพ่อแดงปลุกเสกก่อน 1 พรรษา ภายหลังจึงจัดทำพิธีพุทธาภิเษกขึ้นที่วัดทองนพคุณ หลวงพ่อแดง วัดเขาบันไดอิฐ ท่านจะไม่รับกิจนิมนต์นอกจังหวัดเพชรบุรี โดยเฉพาะการปลุกเสกวัตถุมงคล วิธีปลุกเสกของท่านคือท่านจะปลุกเสกเดี่ยวหากต้องการให้หลวงพ่อแดงปลุกเสกวัตถุมงคลต้องนำมาที่วัดเขาบันไดอิฐเท่านั้น ยกเว้นการปลุกเสก 2 ครั้งที่ท่านยอมไปปลุกเสกนอกวัดเขาบันไดอิฐ

ครั้งแรก ที่วัดทองนพคุณ วัตถุมงคล คือเหรียญโบสถ์ลั่น

ครั้งที่สอง ที่วัดพลับพลาชัย วัตถุมงคล คือเหรียญหลวงพ่อแดง หลวงพ่อเจริญ

ในขณะที่ปลุกเสกเหรียญรูปซ้อนดังกล่าวในพระอุโบสถนั่นก็เกิดเสียงลั่นที่โน่นที่นี่ภายในโบสถ์ บรรดาญาติโยมและผู้ศรัทธาที่อยู่ในโบสถ์ต่างก็สอดส่ายสายตามองไปภายในรอบๆ โบสถ์ ว่ามีเหตุการณ์ผิดปกติ โบสถ์จะร้าวลั่นแตกพังลงมาหรือไม่ ปรากฎว่าสภาพภายในก็เป็นปรกติ มีแต่เสียงที่ยังคงดังลั่นอยู่ หลังจากพิธีปลุกเสกได้เรียบร้อยเสียงดังกล่าวก็ได้เงียบหายไป ชาวบ้านที่อยู่ในเหตุการณ์ต่างพูดต่อกันปากต่อปากเป็นที่โจษจันกันไปในเวลาอันรวดเร็ว จากนั้นเมื่อนำเหรียญรูปซ้อนออกมาให้เช่าบูชาปรากฎว่าเหรียญได้หมดในระยะเวลาอันสั้น

เหรียญโบสถ์ลั่น จัดสร้าง 4 เนื้อ คือ เนื้อทองคำ,เนื้อนาก,เนื้อเงิน,เนื้อทองแดงรมดำ

เหรียญพระมหาชนก

เหรียญในหลวง พระมหาชนก เนื้อเงิน 2539

พระมหาชนก คือ พระโพธิสัตย์ หนึ่งในพระชาติ 10 ชาติสุดท้ายก่อนจะทรงอุบัติขึ้นเป็น พระสิทธัตถะ คือพระชาติที่ทรงเป็น สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า สำหรับเรื่องราวของพระมหาชนกนั้นเป็นวรรณคดีในพุทธศาสนา เรื่องการบำเพ็ญพระบารมีในส่วนของ “พระวิริยะบารมี” ซึ่งเป็นหนึ่งในทศชาติชาดก โดยเรื่องราวกล่าวถึง พระมหาชนกทรงบำเพ็ญพระวิริยะบารมีอย่างยิ่งยวด (ขั้นอุกฤษณ์) ซึ่งในทางพุทธศาสนา เรียกว่า “วิริยะปรมัตถบารมี” อันมีความหมายว่า “พระมหาชนกทรงบำเพ็ญวิริยะบารมีอย่างสูงสุดจนเกิดประโยชน์อันยิ่งใหญ่ไพศาล คือการตรัสรู้ธรรมในพระชาติสุดท้าย คือพระพุทธเจ้า ก่อนจะถึงพร้อมด้วยพระนิพพาน ก็คือการหลุดพ้นจากวัฏฏะสงสาร การเวียนว่ายตายเกิด อันเป็นอุดมธรรมอันสูงสุดในทางพุทธศาสนา”

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ทรงมีพระราชศรัทธาปสาทะในพระราชจริยวัตรของพระมหาชนก ในทางการบำเพ็ญพระวิริยะบารมีและทรงยึดถือพระจริยวัตรเป็นแบบอย่างในการทรงประพฤติ ปฏับัติของพระองค์ในฐานะพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็น “สมเด็จพระบรมธรรมิกราช แห่งแผ่นดินไทย” ซึ่งพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่ที่ทรงบำเพ็ญแก่ประเทศชาติและประชาชนไทย เป็นเอนดอนันต์ในระยะเวลาที่ทรงครองราชย์ เป็นสิ่งที่ยืนยันในพระวิริยะอุตสาหะของพระองค์ ที่ทรงเจริญตามรอยพระวิริยะบารมีแห่งพระมหาชนกโดยแท้จริง

เหรียญพระมหาชนกได้จัดทำคู่กับหนังสือพระมหาชนก ฉบับพระราชนิพนธ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ด้านหนึ่งของเหรียญเป็นพระบรมสาทิสลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระอริยบถทรงงานมีพระเสโท(เหงื่อ) แสดงให้เห็นว่าแม้พระองค์จะทรงเหน็ดเหนื่อยเพียงใด ก็ถึงพร้อมด้วยความเพียรมิได้ทรงย่อท้อต่อการทรงงาน โดยเฉพาะโครงการพระราชดำริต่างๆ ทั่วพระราชอาณาจักรเป็นแม่แบบในการทำมาหากินของพสกนิกรของพระองค์ ภายใต้พระบรมสาทิสลักษณ์มีอักษร 3 ภาษา ความว่า “วิริยะ” (ภาษาไทย) ภาษาฮินดู-อักษรเทวนาครี และ “Preserverance” อันมีความหมายเดียวกันว่า “ความเพียร” หรือ “วิริยบารมี” ที่พระมหาชนกทรงบำเพ็ญตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์ 
อีกด้านของเหรียญเป็นภาพนูนต่ำของ พระมหาชนกทรงบำเพ็ญวิริยบารมีด้วยการว่ายน้ำในมหาสมุทร ภายหลังจากเรือสำเภาพระราชพาหนะแตกและล่มอับปางลงในมหาสมุทร และทรงสนทนาธรรม พร้อมกับทรงว่ายน้ำ กับนางมณีเมขลา โดยศิลปินได้ปั้นจำลองจากแบบร่างฝีพระหัตถ์ของ “สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์” สมเด็จครูนายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม ซึ่งทรงวาดร่างไว้ขณะยังทรงพระชนม์ชีพอยู่

สำหรับศิลปินผู้ออกแบบปั้นเหรียญพระมหาชนก ตือ “ศาสตราจารย์นนทิวรรธน์ จันทนะผลิน”อาจารย์ประจำแห่ง คณะจิตรกรรมประติมากรรม ภาพพิมพ์และภาพไทย มหาวิทยาลัยศิลปากร (วิทยาเขตวังท่าพระ) จัดสร้างด้วยเนื้อโลหะอันทรงคุณค่า 3 ชนิด คือ เนื้อทองคำ มีความบริสุทธิ์ ร้อยละ 99.99 น้ำหนัก 34 กรัม เนื้อนาก อันมีส่วยผสมของทองคำ ร้อยละ 40 น้ำหนัก 24 กรัม และเนื้อเงิน มีความบริสุทธิ์ ร้อยละ 99.99 น้ำหนัก 23 กรัม โดยมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 29 มิลลิเมตร ด้านบนเหรียญประดับพระปรมาภิไธยย่อ “ภ.ป.ร.” พร้อมรัศมีเป็นเรือนยอด มีการตกแต่งผิวแบบด้าน ลักษณะงดงามอลังการแฝงไว้ด้วยความมีชีวิตชีวา มีพลังแห่งความเพียรเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิตและการฟันฝ่าอุปสรรค สมดั่งพุทธภาษิตที่มีมาในพระธรรมบทว่า “วิริเยนทุกขมจติ” อันมีความหมายว่า “บุคคลย่อมล่วงพ้นจากความทุกข์ได้ด้วยความเพียร”

เหรียญพระมหาชนกเป็นเหรียญที่จัดสร้างขึ้นควคู่กับหนังสือ “พระมหาชนกฉบับพระราชนิพนธ์ฯ”เมื่อแรกเปิดให้ผู้สนใจสั่งจอง 2 แบบ 2 ราคา คือ 
1. ชนิดราคา 50,000 บาท ประกอบด้วย หนังสือพระมหาชนกฉบับพระราชนิพนธ์ฯ เล่มสีน้ำเงิน จำนวน 1 เล่ม พร้อมเหรียญพระมหาชนก 3 กษัตริย์ คือ เหรียญพระมหาชนก เนื้อทองคำ 1 เหรียญ เนื้อนาก 1 เหรียญ และเนื้อเงิน 1 เหรียญ บรรจุอยู่ในกล่องเดียวกัน 
2.ชนิดราคา 5,000 บาท ประกอบด้วย หนังสือพระมหาชนกฉบับพระราชนิพนธ์ฯ เล่มสีแดง จำนวน 1 เล่ม พร้อมเหรียญพระมหาชนกเนื้อเงิน 1 เหรียญ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จฯเป็นองค์ประธานในการประกอบพระราชพิธีชัยมังคลาภิเษก ณ พระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร ในวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2539 โดยท่านเจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯทรงเป็นองค์ประธานฝ่ายสงฆ์และประทับอธิฐานจิตเจริญภาวนาชัยมงคลภิเษก ร่วมกับพระคณาจารย์ผู้ทรงวิทยาคุณ จำนวน 9 รูป และระหว่างพิธีมีสายฝนโปรยปรายตลอดเวลาเสมือนหนึ่ง เป็นน้ำเทพมนต์จากฟากฟ้าร่วมอนุโมทนาในพิธีเป็นมหามงคล ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณเสด็จฯประทับเป็นองค์ประธาน ทรงจุดเทียนชัยในพิธีชัยมังคลาภิเษก ทรงพระสุหร่าย ทรงเจิมและทรงโปรยข้าวตอกดอกไม้ นับเป็นมหาสิริมงคลอันยิ่งใหญ่ เป็นพระมหากรุณาธิคุณยิ่งนัก ยังผลให้เหรียญพระมหาชนกและหนังสือพระราชนิพนธ์ ถึงพร้อมด้วยพระมหากษัตริยาธิคุณ อันยิ่งใหญ่แห่งองค์สมเด็จพระบรมธรรมิกราช พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 

นอกจากนี้เหรียญพระมหาชนก มีความพิเศษกว่าเหรียญที่ระลึกโดยทั่วๆไป คือเป็นเหรียญพลังแห่งความเพียร ด้วยเหตุนี้ เมื่อถึงวันปิดจองแล้วผู้ที่ไม่ได้จองต่างเสียดายตามๆกัน เพราะจัดสร้างตามจำนวนสั่งจอง จึงแสดงความจำนงไปยังคณะกรรมการจัดสร้างที่ได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจัดสร้างเพิ่มเติม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระบรมราชานุญาตแต่ให้ลดขนาดเหรียญและขนาดหนังสือ เล็กลงกว่าการสร้างครั้งแรกและทรงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯให้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เสด็จฯทรงประกอบพิธีชัยมังคลาภิเษก ณ พระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร โดยท่านเจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ ทรงเป็นองค์ประธานฝ่ายสงฆ์ ปัจจุบันเหรียญพระมหาชนกทั้งสองขนาด ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก

หลวงปู่คำ วัดหนองแก อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ อริยสงฆ์ ๕ แผ่นดิน ผู้หยั่งรู้กาลอนาคต


เหรียญหล่อเจ้าสัวเจ้าทรัพย์ หลวงปู่คำ วัดหนองแก หัวหิน ประจวบคีรีขันธ์ สร้างปี 2534
ซึ่งถือเป็นเหรียญหล่อเจ้าทรัพย์ เหรียญแรกของเมืองไทยหลวงปู่คำได้ทำการปลุกเสกตลอด 1 ไตรมาส และได้นำเข้าทำการปลุกเสกในพิธีปลุกเสกอีกครั้งหนึ่ง ภายในอุโบสถวัดหนองแก ในวันเสาร์ที่ 8 ธันวาคม 2534
ในเรื่องของพุทธคุณนั้น เหรียญเจ้าสัวเจ้าทรัพย์หลวงปู่คำ วัดหนองแก เด่นทางด้านโชคลาภ ทำมาค้าขาย และทางด้านแคล้วคลาด


"หลวงปู่คำ สุวัณณโชโต" วัดหนองแก อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ อดีตพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง ยอดพระสงฆ์ 5 แผ่นดิน เป็นศิษย์สายตรงอดีตพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง หลวงปู่นาค วัดหัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งท่านได้รับถ่ายทอดวิทยาคมวัตถุมงคลของท่าน ปัจจุบันได้รับความนิยมจากนักสะสมเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็น เหรียญหล่อเจ้าทรัพย์ เหรียญหล่อปรกโพธิ์ พระกริ่งหนองแกหน้าอินเดีย พระกริ่งหนองแกหน้าจีน พระคงเนื้อผง รูปหล่อเหมือนขนาดบูชา เป็นต้นอัต โนประวัติ พระครูประสิทธิวรการ หรือ หลวงปู่คำ มีนามเดิมว่า คำ สุขศรี เกิดเมื่อปี พ.ศ.2436 ตรงกับ ร.ศ.122 ที่ ต.หนองแก อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ โยมบิดา-มารดา ชื่อ นายอิ่ม และนางแจ้ง สุขศรีหลังคลอดบุตรชายใหม่ๆ โยมบิดา-มารดา ได้นำบุตรชายยกให้เป็นบุตรบุญธรรมหลวงปู่นาค วัดหัวหิน ยอดพระเกจิชื่อดังที่เป็นที่เคารพจากชาวหัวหิน โดยหลวงปู่นาค ได้ตั้งชื่อเด็กชายว่า "ทองคำ" แต่คนทั่วไปมักเรียกชื่อท่านสั้นๆ ว่า "คำ" 

ครั้นย่างเข้าสู่วัยหนุ่ม อายุครบ 23 ปี ท่านได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดหัวหิน โดยมี หลวงปู่นาค เป็นพระอุปัชฌาย์, หลวงปู่เปี่ยม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอาจารย์ละม้าย อมรธัมโม เป็นพระอนุสาวนาจารย์ 

ภายหลังอุปสมบทแล้วได้จำพรรษาศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัย ณ วัดหัวหิน ได้อยู่รับใช้อุปัฏฐากหลวงปู่นาค พร้อมกับฝากตัวเป็นศิษย์เรียนวิทยาคมควบคู่กับการฝึกสมาธิวิปัสสนาต่อ มา ท่านได้มาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดหนองแก อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ใน ช่วงที่หลวงปู่คำ ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดหนองแกใหม่ๆ ท่านใช้วิชาแพทย์แผนโบราณช่วยบำบัดรักษาชาวบ้านที่เจ็บไข้ได้ป่วย ซึ่งท่านได้ศึกษาด้วยตัวเองจากสมุดข่อยที่ตกทอดมาจากบรรพบุรุษ รวมถึงตำราโหราศาสตร์ไทย การลงอักขระเลขยันต์ การอธิษฐานจิตปลุกเสกวัตถุมงคลให้เข้มขลังศักดิ์สิทธิ์ 

ด้วยท่านเป็นพระที่มากเมตตา กิจนิมนต์พิธีพุทธาภิเษกจึงมีบ่อยครั้ง หลวงปู่คำได้เคยร่วมนั่งปรกปลุกเสกวัตถุมงคลกับอดีตพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง หลายรูป อาทิ หลวงปู่โต๊ะ วัดประดู่ฉิมพลี, หลวงพ่อเฮง วัดกัลยาณมิตร, หลวงพ่อชิต วัดเขาเต่า, หลวงพ่อแดง วัดเขาบันไดอิฐ, หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม, หลวงปู่นาค วัดระฆังฯ, หลวงพ่ออั้น วัดพระญาติ เป็นต้น

สำหรับ หลวงปู่คำ ถือว่าท่านเป็นยอดพระเกจิอาจารย์จอมขมังเวทแห่งยุครัตนโกสินทร์ มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านไสยเวทวิทยาคมครบถ้วน ชื่อเสียงด้านการสักยันต์ก็เป็นเลิศ ว่ากันว่าผู้ใดที่ได้รับการประสิทธิ์ประสาทวิชาหรือครอบครูสักยันต์ตำรับใหญ่ เมื่อตายแล้วจะเผาไม่ไหม้ ท่านจะสักด้วยยันต์ประจำตัวที่เรียก ว่า ยันต์ตรีนิสิงเห ตามตำรับตำราเก่าแก่ของโยมปู่ 3 ท่าน คือ หลวงปู่สุข หลวงปู่สิงห์ และหลวงปู่อาจ กำกับด้วยคาถาอาคมที่ร่ำเรียนมาจากพระอาจารย์ หลวงปู่นาค วัดหัวหิน หลวงพ่อทองสุข วัดโตนดหลวง และหลวงพ่อเปี่ยม วัดเกาะหลัก 

สิ่งที่ลูกศิษย์เห็นบ่อยครั้ง คือหลวงปู่คำท่านจะเขียนยันต์ลงบนกระดานชนวนวางไว้ในกุฏิข้างๆ ตัวท่านตลอด โดยท่านบอกว่า "เขียนไว้ดักขโมย วัดนี้ขโมยชุมเผลอเป็นไม่ได้ ชอบมาลักขโมยหยิบฉวยของที่วางบนกุฏิโดยไม่ได้รับอนุญาต ใครเอามากหัวล้านมาก ใครเอาไปน้อยหัวล้านน้อย ที่เห็นๆ หัวล้านไปแล้วสามคน"

การลงยันต์ ตรีนิสิงเห ต้องบริกรรมภาวนาเรียกสูตรตามลำดับรวมทั้งหมด 12 ครั้ง เป็นยันต์สำคัญมาก พระเกจิอาจารย์รู้จักกันเป็นอย่างดี ยันต์นี้รวมมงคลนามศักดิ์สิทธิ์ไว้ในตัวเอง เช่น คำว่า ตรีนิสิงเห ท่านกล่าวว่า หมายถึงพุทธานุภาพอันยิ่งใหญ่ราชสีห์ทั้งสามได้แก่ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ สัตตนาเค แปลว่า พญานาคผู้ประเสริฐทั้ง 7 อันได้แก่ พระพุทธเจ้า 7 พระองค์คือ พระวิปัสสี พระสิขี พระเวสสภู พระกกุสันโธ พระโกนาคมน์ พระกัสสปะ พระสมณโคดม

ความภาคภูมิใจของหลวงปู่คำ ซึ่งท่านเล่าให้ลูกศิษย์ฟังว่า ด้วยความจงรักภักดี และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นที่สุด ท่านตั้งใจจัดทำตะกรุดโทน ด้วยเนื้อทองคำหนัก 4 บาท และอธิษฐานจิตปลุกเสกวัตถุมงคลวาระพิเศษ เรียกว่า ตะกรุดคุมคนหรือตะกรุดมหาอำนาจ ทูลเกล้าฯ ถวาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินทรงตัดลูกนิมิตอุโบสถวัดหนองแก เมื่อปี 2509

หลวงปู่คำ สุวณณโชโต ท่านได้มรณภาพอย่างสงบเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2540 สิริอายุ 104 ปี 81 พรรษา นับได้ว่าท่านเป็นพระสุปฏิปันโนที่มีอายุยืนยาวนานรูปหนึ่งของเมืองไทย

หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก จ.อยุธยา เทพเจ้าแห่งความเมตตา

หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก จ.อยุธยา 2485 พิมพ์หน้าเล็ก

หลวงพ่อจง พุทธัสสโร เป็นครูบาอาจารย์รุ่นเก่าที่ได้ล่วงลับดับสังขารไปแล้ว ตามวิสัยแห่งชีวิตมวลสัตว์โลกทั้งหลายที่มีเกิดแล้วต้องมีแก่ เจ็บ และตายไปในท้ายที่สุด แต่ทว่าในช่วงชีวตของพระคุณท่าน ได้สร้างสมความดีทั้งโดยฝ่ายโลกและฝ่ายธรรมไว้เป็นอเนกอนันต์ เป็นที่เล่าขานบอกกล่าวกันมาอย่างไม่รู้จักจบสิ้น แม้ว่าท่านจะล่วงลับดับขันธ์ไปนานนับเป็นสิบ ๆ ปี ก็ตาม ตรงกันข้ามสภาวะแห่งความเจริญของสังคมยุคปัจจุบันที่มุ่งเน้นในวิทยาการสมัยใหม่ เป็นสังคมวัตถุนิยม บูชาในคุณค่าของวัตถุเหนือสภาพจิตใจ เป็นเหตุให้พลโลกทั้งหลายล้วนมีจิตใจที่เสื่อมทราบ มีความเห็นแก่ตัวตนของตนมากยิ่งขึ้น จนถึงกับมองข้ามหลักศีลธรรมจรรยาว่าเป็นสิ่งไร้ค่าหาสาระไม่มี ด้วยความเป็นไปในสังคมยุคใหม่ที่ว่านั้น จึงทำให้ผู้มีปัญญาหวนกลับมามองเห็นถึงคุณค่าแห่งศีลธรรม ซึ่งเหตุนั้น เรื่องราวของครูบาอาจารย์ที่อุดมด้วยความดีงาม จึงโดดเด่นเป็นที่สนใจใคร่รู้ เป็นแบบอย่างอีกครั้งหนึ่ง ชีวิตความเป็นมาของหลวงพ่อจง พุทธัสสโร นี้ก็เช่นกัน นับเป็นเนติแบบอย่างแก่ผู้ใฝ่ดีทั้งหลายได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะผู้อยู่ในเพศบรรพชิตด้วยแล้ว หากได้อ่านได้ศึกษาอย่างถี่ถ้วนแล้ว ย่อมจะรู้ได้ว่า ผู้เป็นพระนั้นควรจะเป็นอยู่อย่างไร และ......เป็นพระแท้แล้วหรือยัง

สำหรับวันเดือนปีเกิดหรือวันถือกำเนิดของหลวงพ่อจง พุทธัสสโร นั้น เนื่องจากเป็นเหตุการณ์ที่ล่วงเลยผ่านพ้นมานาน อีกทั้งการบันทึกก็มิได้มีหลักฐานที่เด่นชัด เป็นแต่ระบุไว้พอรู้ความว่า ได้กำเนิดในสมัยต้นรัชกาลที่ 5 แห่งราชวงศ์จักรี ณ วันพฤหัสบดี เดือน 4 ปีวอก อันเป็นวันขึ้น 8 ค่ำ ที่ตรงกับวันที่ 6 เดือนมีนาคม พ.ศ.2415 และด้วยเวลานั้นยังไม่มีการใช้ชื่อสกุล จึงไม่มีการระบุชื่อนามสกุลเดิมของท่านไว้

เมื่ออายุครบอุปสมบทในปี พ.ศ.2435 โยมบิดามารดาจึงจัดพิธีอุปสมบทให้ได้เป็นพระภิกษุต่อไป ณ พัทธสีมาวัดหน้าต่างในที่พำนักอยู่ โดยมี พระอุปัชฌาย์สุ่น (หลวงพ่อสุ่น วัดบางปลาหมอ) เจ้าอาวาสวัดบางปลาหมอ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์อินทร์ เจ้าอาวาสวัดหน้าต่างนอก เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอาจารโพธิ์ เจ้าอาวาสวัดหน้าต่างใน เป็นพระอนุสาวนาจารย์

จากพิธีอุปสมบทในครั้งนั้น พระภิกษุจงได้รับสมญานามตามเพศภาวะว่า “พุทธัสสโรภิกขุ” และพำนักเพื่อศึกษาพระธรรมวินัย ตลอดจนวิชาการต่าง ๆ ที่พระภิกษุพึงจะต้องเรียนรู้เท่าที่มีอยู่ในสมัยนั้น ณ วัดหน้าต่างในนั่นเอง

ในขณะที่พระภิกษุจง ยังคงพำนักอยู่กับผู้เป็นอาจารย์ คือท่านพระอาจารย์โพธิ์ ที่วัดหน้าต่างใน ซึ่งมีบ้านเป็นครั้งเป็นคราวที่ท่านขออนุญาตจากผู้เป็นพระอาจารย์ ไปเรียนวิชายังสำนักอื่น แต่เมื่อเจนจบหลักสูตร เป็นต้องกลับคืนสู่วัดหน้าต่างในต้นสังกัด ทุกครั้งไป แม้ว่าเวลานั้น ท่านจะยังคงอยู่ในฐานะพระลูกวัดศิษย์เจ้าอาวาสท่านพระอาจารย์โพธิ์ แต่ชีวิตแห่งการบวชเข้ามาอยู่ในเพศบรรพชิตของพระภิกษุจงก็นับได้ว่า เป็นชีวิตที่ได้รับความสำเร็จผลสมความตั้งใจ เป็นผู้รู้พระปริยัติธรรมตามฐานานุรูป และการปฏิบัติกรรมฐานทำความเข้าใจในพระธรรมขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อใช้ปฏิบัติจิตให้บังเกิดความสงบสุขและบรรลุเข้าสู่วิถีแห่งความพ้นทุกข์ ตลอดจนเป็นผู้รอบรู้เจนจบในทางเวทย์วิทยาคม ซึ่งมีพระอาจารย์โพธิ์เป็นปฐมพระอาจารย์ประสาทวิชาให้

วิชาความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมา นอกจากจะยังประโยชน์ให้บังเกิดเป็นความสุขสงบเย็นเฉพาะตนแล้ว ยังสามารถใช้เป็นเครื่องกล่อมเกลาบรรเทาทุกข์ให้แก่ผู้อื่นตามควรแก่ฐานานุรูป ตามด้วยความเหมาะควรแก่กาละเทศะต่อปวงชนทั้งหลาย ทั้งทางกายและทางใจด้วย

ด้วยภูมิธรรมความรู้ อันเกิดจากความวิริยะพากเพียรที่หนุนเนื่องด้วยบุญบารมีเดิม จึงทำให้ท่านเป็นที่เคารพศรัทธาของญาติโยมปวงชนทั้งหลาย ซึ่งนับวันก็แต่จะมีจิตศรัทธาเลื่อมใสมากยิ่ง ๆ ขึ้น ฉะนั้น ต่อมาเมื่อหลวงพ่ออินทร์สิ้นบุญในอันที่จะครองเพศเป็นภิกษุ ทำหน้าที่เป็นเจ้าอาวาสวัดหน้าต่างนอกได้ต่อไป ทำให้หน้าที่การดูแลวัดปกครองสงฆ์ของวัดหน้าต่างนอกว่างลง ซึ่งจำต้องรีบหาและแต่งตั้งเป็นการด่วน

ในความคิดความเห็นของบรรดาศรัทธาญาติโยมทั้งหลาย ต่างเห็นพ้องต้องกันอย่างไม่มีการนัดแนะมาก่อนว่า พระภิกษุจง พุทธัสสโร ศิษย์ของท่านพระอาจารย์โพธิ์ วัดหน้าต่างใน เพราะสมกว่าใครอื่นทั้งหมด ด้วยความเห็นนั้น จึงได้ชักชวนกันไปหาท่านพระอาจารย์โพธิ์เพื่อขอพระภิกษุจงให้มาดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสที่วัดหน้าต่างนอก แทนท่านพระอาจารย์อินทร์ พระอาจารโพธิ์ได้รับรู้แล้ว พิจารณาเห็นถึงความเหมาะสมหลาย ๆ ประการ เริ่มแต่ความศรัทธาของญาติโยมชาวบ้าน ความเหมาะสมของผู้เป็นศิษย์ จึงเห็นควรตามที่ญาติโยมเขามาขอ เมื่อศรัทธาเรียกร้อง พระอาจารย์เห็นชอบ พระภิกษุจงจึงมาทำหน้าที่เป็นเจ้าอาวาสวัดหน้าต่างนอกนับแต่นั้นมา

หลวงพ่อเป็นบรรพชิตที่เหมาะสมแก่คนทุกชั้น ไม่มีคำว่า “ขนาดเราไปหาท่านแล้วเข้าไม่ถึง” โดยเด็ดขาด ทั้งนี้เพราะหลวงพ่อจงท่านทรงคุณธรรมอันสำคัญอยู่สามประการ คือ

1. เมตตากรุณา หลวงพ่อจงไม่เพียงแต่สอนให้ผู้อื่นมีเมตตากรุณาต่อกันเท่านั้น แต่ตัวของหลวงพ่อเองก็มีเมตตากรุณาประจำใจด้วยอย่างสมบูรณ์ ท่านยิ้มแย้มแจ่มใสกับทุกคน ไม่เคยเห็นท่านแสดงท่าทางโกรธเคืองผู้ใด ไม่ว่าเวลาไหน ใครมาหาท่านต้องการสิ่งใดท่านจะรีบทำให้ด้วยความเต็มใจและว่องไว บางครั้งแขกมาหาเป็นเวลาที่ท่านจำวัดแล้ว หลวงพ่อจงท่านยังรีบลุกจากที่จำวัดมาสงเคราะห์ให้จนสำเร็จประโยชน์

2. อธิวาสนขันติ หลวงพ่อจงท่านรับแขกตลอดเวลา ทุกเมื่อเชื่อวัน อดทนต่อความเมื่อยล้า ไม่เคยแสดงอาการเหน็ดเหนื่อยให้เห็นเลย

3. ปริจจาคะ หลวงพ่อจงท่านบริจาคทุกอย่างไม่ว่าสิ่งใด ใครขออะไรแม้กระทั่งย่ามที่ท่านถืออยู่ ท่านยินดีมอบให้ด้วยความยิ้มแย้มแจ่มใส คุณธรรมสามประการนี้ เป็นวิหารธรรมที่หลวงพ่อจงท่านสร้างสมอยู่ชั่วชีวิตท่าน

หลวงพ่อจง เป็นพระเถราจารย์ที่มีวิทยาคมแก่กล้า ได้รับการถ่ายทอดวิทยาคมจาก หลวงพ่อสุ่น วัดบางปลาหมอ อำเภอบางบาล และหลวงพ่อปั้น วัดพิกุล อยุธยา พระอาจารย์ทั้งสองท่านนี้ ก็เป็นพระอาจารย์ของหลวงพ่อปาน วัดบางนมโค เช่นกัน หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก เป็นสหายธรรมสนิทสนมกับหลวงพ่อปาน วัดบางนมโค เป็นอันมาก เนื่องจากมีพระอุปัชฌาย์องค์เดียวกัน นัยว่าสองหลวงพ่อนี้เป็นศิษย์สำนักเดียวกัน จึงมีความสนิทสนมและต่างฝ่ายต่างเคารพนับถือธรรมปฏิบัติของกันและกันมากเป็นพิเศษ

หลวงพ่อปาน มีสังฆกิจอย่างไร ต้องนิมนต์หลวงพ่อจงไปในพิธีเสมอ หลวงพ่อจงมีสังฆกิจเช่นไรก็จะต้องนิมนต์หลวงพ่อปานไปร่วมพิธีทุกครั้ง หลวงพ่อปาน ท่านมักพูดแก่ศิษย์ของท่านเองว่า พระอย่างหลวงพ่อจงนั้น เป็นทองคำทั้งองค์ พระขนาดนี้อย่า ไปขออะไรท่านนะ จะเป็นบาปหนัก เพราะแม้เทพยดาชั้นสูง ๆ ยังต้องขอเป็นโยมอุปัฎฐากเลย

ด้วยเหตุนี้ ลูกศิษย์ของหลวงพ่อปานจึงเคารพนับถือหลวงพ่อจงมาก และท่านยังสั่งว่า “ถ้าฉันไม่อยู่ติดขัดเรื่องธรรมะ ให้ไปถามท่านจงนะ ท่านจงนี้น่ะ ท่านสอนเทวดามาแล้ว ถ้าเธอไปเรียนกับท่านจงได้ ก็นับว่าเป็นบุญของเธอ”

เมื่อกล่าวถึงวิทยาอาคมของหลวงพ่อที่มีผู้นิยมและต้องการนั้น เท่าที่ทราบมีสามสาขา คือ

1. วิทยาคมทางด้านคงกระพันชาตรี
2. วิทยาคมทางด้านเมตตา
3. วิทยาคมทางน้ำมนต์

ในบรรดาวิทยาคมทั้งสามสาขาที่ประมวลมานี้ วิทยาคมทางเมตตาเป็นที่เลื่องลือมากกว่าอย่างอื่น หลวงพ่อจงท่านเฝ้าสอนให้ทุกคนมีเมตตาต่อกัน อย่าเบียดเบียนกันเป็นนิตย์ แสดงว่าท่านให้ทั้งที่พึ่งพาทางกายและทางใจพร้อมกันไป แทนที่จะมุ่งให้ทุกคนยึดมั่นในวัตถุเช่นอาจารย์อื่น ๆ การกระทำของหลวงพ่อจง และวิทยาคมทางเมตตาของท่านจึงมุ่งเสริมสร้างสังคมให้รู้จักการอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข อันเป็นยอดปรารถนาของคำสั่งสอนทั้งมวลอันเป็นโลกียะ ถ้าจะกล่าวว่าหลวงพ่อจงท่านเป็นนักสงเคราะห์ก็ไม่ผิดมิใช่หรือ

หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก ได้สร้างอิทธิเครื่องมงคลไว้มากมายหลายชนิด มีทั้งเหรียญ ผ้ายันต์ ตะกรุด แผ่นยันต์มหาลาภ และกันไฟ ดังนี้

1. เสื้อยันต์แดง เสื้อยันต์ของท่านมีชื่อเสียงมาก เมื่อครั้งสงครามอินโดจีน ท่านได้สร้างขึ้นไว้แจกแก่ทหารที่ออกสู่สมรภูมิ ในคราวสงครามโลกครั้งที่สองเช่นกัน เสื้อยันต์ของท่าน ได้ปรากฎเกียรติคุณในสนามรบมาแล้วอย่างโด่งดัง จนกิตติศัพท์แพร่หลายไปทั่วประเทศ และด้วยเหตุนี้ จึงมีประชาชนพากันหลั่งไหลไปรับแจกที่วัดหน้าต่างนอก ตลอดระยะเวลาที่เกิดสงครามอย่างไม่ขาดสาย

2. ผ้ายันต์สิงห์มหาอำนาจ สร้างกันมาแต่สงครามโลกครั้งที่สอง และสร้างต่อมาอีกหลายรุ่น ผ้ายันต์ของท่านนี้มีคุณวิเศษครบเครื่อง ใช้ได้สารพัด ไม่ว่าคลาดแคล้ว คงกระพัน และทางด้านโชคลาภ เป็นต้น

ประสบการณ์จากทหารและตำรวจชายแดนหลายท่านยืนยันว่า ผ้ายันต์ของหลวงพ่อจงเป็นมหาอุดชั้นหนึ่ง

3. แผ่นยันต์ พิมพ์ด้วยกระดาษสองสี คือตัวยันต์และตัวหนังสือเป็นสีดำ รูปหลวงพ่อบริเวณจีวรพิมพ์ด้วยสีเหลือง แผ่นยันต์นี้สร้างครั้งแรกในปี พ.ศ.2490 เมื่อคราวสร้างเจดีย์ข้าวเปลือก หลวงพ่อท่านสร้างแจกเป็นที่ระลึกแก่ผู้ที่จะมาร่วมงาน ปรากฎว่าแผ่นยันต์นี้ อำนวยโชคลาภแก่เจ้าของบ้านที่นำไปบูชา ท่านจึงสร้างแจกอีกต่อมาหลายรุ่น บางรุ่นเป็นสีเดียว เช่น สีฟ้า สีดำ แผ่นยันต์นี้นิยมกันมากเมื่อหลังสงครามโลกสงบ ๆ ใหม่ ๆ เพราะนอกจากจะอำนวยโชคลาภดังกล่าวแล้ว ยังป้องกันไฟไหม้ได้ชะงัดนัก

4. ปลาตะเพียนเงิน-ตะเพียนทอง ปลานี้หลวงพ่อจงท่านสร้างเป็นคู่ ตัวเมียกับตัวผู้ เดินอักขระขอม ปั๊มนูนไม่เหมือนกัน ท่านสร้างเมื่อปี พ.ศ.2490 เศษ ๆ ได้มีผู้เคยพบปลาตะเพียนคู่นี้ในกุฎิท่านเจ้าคุณศรี (สนธิ์) วัดสุทัศนฯ ซึ่งท่านมรณภาพเมื่อปี พ.ศ.2495 เข้าใจว่า หลวงพ่อจงมอบให้แก่ท่านเจ้าคุณโดยเฉพาะ ปลาตะเพียนคู่ เป็นเครื่องรางที่ชาวจีนนับถือกันอย่างมากมายมาช้านาน เครื่องถ้วยชามของชาวจีนเก่า ๆ มักจะทำเป็นปลากลับหัว อันหมายถึง บ่อเกิดของชีวิตแห่งโชคลาภ การปลุกเสกปลาตะเพียนของหลวงพ่อจงนี้ ไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือน กล่าวคือ ท่านปลุกเสกแล้วให้ลูกศิษย์ปล่อยลงที่ท่าน้ำหน้าวัดคู่หนึ่ง ปรากฎว่า ปลาตะเพียนที่เป็นโลหะตั้งตัวตรงแบบปลาจริง ๆ และไม่จมน้ำด้วย และที่น่าประหลาดไปกว่านั้นก็คือ ปลาตะเพียนของหลวงพ่อจง ลอยทวนน้ำ ไม่ใช่ลอยตามน้ำ และเป็นที่ร่ำลือกันว่า ปลาตะเพียนของท่านว่ายน้ำได้

ครั้นต่อมาในวันที่ 14 มกราคม พ.ศ.2508 หลวงพ่อจงได้ล้มป่วยลงเป็นอัมพาตทางด้านขวาของร่างกายหมดความรู้สึก แต่ใบหน้าของท่านยังอิ่มเอิบ ผิวพรรณผ่องใสมาก ท่านมีอาการยิ้มแย้มเหมือนไม่รับทราบความเจ็บป่วยนั้น ลูกศิษย์ลูกหาพากันห่วงใยเป็นอย่างยิ่ง ได้ตามนายแพทย์จากกรุงเทพฯไปรักษา ท่านพยายามห้ามปรามอย่างไรก็ไม่เป็นผล ท่านบอกแก่ลูกศิษย์ว่า “ตามหมอมาก็ไม่มีประโยชน์ ป่วยคราวนี้ไม่มีวันหาย อย่าห่วงเลยนะ มันจะเจ็บ มันจะป่วย มันจะตาย ไปห้ามมันไม่ได้ ลูก ๆ ทุกคนจงจำไว้ เวลาจะเจ็บ เวลาจะป่วย เวลาจะตาย อย่าเอาจิตไปเกาะเกี่ยวเวทนา จะได้ไม่เกิดทุกข์”

นี่คือคำสั่งสอนครั้งสุดท้ายของ หลวงพ่อจง พุทธัสสโร ที่ให้ลูกศิษย์เห็นถึงคุณวิปัสสนาญาณชั้นสูง ถึงสังขารุเปกขาญาณ จากนั้นมา ท่านก็นอนนิ่ง นาน ๆ จะหายใจสักครั้ง ทราบจากลูกศิษย์ที่ใกล้ชิดว่า ท่านเข้าสมาบัติอนุโลมปฏิโลมตลอดเวลา จนกระทั่งถึงวันอังคาร ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ปีมะโรง อันเป็นวันมาฆบูชา ตรงกับวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2508 เวลา 01.55 น. ท่านก็ถึงแก่มรณภาพด้วยอาการสงบเหมือนคนนอนหลับ ท่ามกลางความโศกสลดในมวลหมู่ลูกศิษย์ที่นั่งเฝ้าโดยใกล้ชิดทั้งหลายนั่นเอง.........

พระผงพุทธคุณ หลวงปู่ดู่ วัดสะแก พิมพ์ไก่หางพวง

พระเนื้อผงพุทธคุณ หลวงปู่ดู่ วัดสะแก พิมพ์ไก่หางพวง หลวงพ่อปาน
พระพิมพ์ขี่ไก่หางพวง เนื้อผงพุทธคุณผสมปูน แช่น้ำชา จัดสร้างขึ้นและได้รับเมตตาอธิษฐานจิตจากหลวงปู่ท่านในปี 251กว่าๆ เป็นพระยุคต้นๆที่ได้มีการนำแบบพิมพ์บรรดาพระทรงพิมพ์ต่างๆของหลวงพ่อปาน วัดบางนมโค มาถอดแบบและเทตั้งองค์พระด้วยผงพุทธคุณ ซึ่งเป็นปกติแล้วในส่วนพระของหลวงปู่ท่านก็มักจะนำพระพิมพ์ต่างๆของบรรดาเกจิอาจารย์ในแต่ละยุคและพิมพ์พระคู่บ้านคู่เมืองของประเทศมาถอดทำแบบพิมพ์เพื่อให้เป็นปฏิปทาและประโยชน์ของพระศาสนาและการปฏิบัติธรรมสืบไป

สิงห์ป้อนเหยื่อ หรือ พระฝักไม้ดำ หลวงปู่แขก


พระลีลา สิงห์ป้อนเหยื่อ หรือ พระฝักไม้ดำ หลวงปู่แขก พระมงคลสุธี
หลัง พ.ศ.๒๔๘๕ ได้เกิดอุทกภัยน้ำท่วมใหญ่หลายจังหวัด รวมทั้ง จ.พิษณุโลก ด้วย วัดสุนทรประดิษฐ์ ซึ่งอยู่ในที่ลุ่มและริมฝั่งแม่น้ำยม ก็ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยดังกล่าวนี้ด้วย น้ำได้ไหลบ่าเข้าไปในโบสถ์ พระพิมพ์ที่ซุกซ่อนอยู่หลังพระประธานจมอยู่ในน้ำเป็นเวลานาน

เมื่อน้ำลดจึงมีคราบตะกอนดินติดอยู่ที่ผิวพระ จนบางท่านเข้าใจว่าเป็นพระกรุ หรือบางท่านเข้าใจถูกแล้วแต่ด้วยธรรมชาติขององค์พระเฉกเช่นเดียวกับพระกรุ จึงเรียกเช่นนั้นต่อๆ กันมา สมัยนั้น ทางวัดมิได้สนใจกับพระพิมพ์ดังกล่าวนี้เลย ใครจะหยิบฉวยไปอย่างไร จำนวนเท่าไร ก็ไม่ว่า โดยเฉพาะเด็กวัดหยิบเอามาเล่นทอยกองกันอย่างสนุกสนาน จนในที่สุดพระก็ไม่มีเหลืออยู่เลย

พระพิมพ์จากวัดบางระกำ หรือวัดสุนทรประดิษฐ์ มี ๒ แบบ คือ พระพิมพ์สิงห์ป้อนเหยื่อ และพิมพ์สมเด็จฝักไม้ดำ-ฝักไม้ขาว

พุทธลักษณะ ของพระฝักไม้ดำ เป็นพระพิมพ์สี่เหลี่ยมชิ้นฟัก มีหลายสี ทั้งสีดำ น้ำตาล ขาว และเขียว ด้านหน้าเป็นรูปพระลีลายืนหันด้านข้าง มีอักขระล้อม ยกกรอบเส้นลวดนูนอย่างงดงาม ด้านหลังเป็นพระพุทธสามองค์นั่งเรียงกัน องค์กลางสูงกว่าเล็กน้อย พระพุทธรูป ๓ องค์ ประทับนั่งขัดเพชร บนฐาน ๓ ชั้น

องค์ซ้ายมือเป็นปางสมาธิ องค์กลางเป็นมารวิชัย และองค์ขวามือสุดปางพนมมือ ด้านบนมีอักขระว่า "มะ อุ อะ" ด้านหลังมีอักขระว่า "นะ ปะ ทะ อะ ระ หัง" เมื่ออ่านรวมจะเป็น "นะ ปะ ทะ อะ ระ หัง มะ อุ อะ" ซึ่งเป็นคาถามหาอุด

และด้านล่างมีสิงห์และเสือหันหน้าเข้าหากัน คล้ายกำลังป้อนอาหารแก่กัน เป็นเคล็ดหรือคติความเชื่อที่ว่า "สัตว์ร้ายหันหน้าเข้าหากัน เป็นเครื่องบ่งชี้ว่า มีความรักเมตตากรุณาต่อกัน เป็นเมตตามหานิยม และมหาอำนาจ" พระฝักไม้ดำจึงมีนามอีกอย่างหนึ่งว่า "สิงห์ป้อนเหยื่อ" ด้วยลักษณะอาการของสิงห์และเสือที่อยู่ด้วยกันนั่นเอง

ส่วนพุทธลักษณะของพระฝักไม้ขาว ด้านหน้าเป็นพระพุทธประทับนั่งสมาธิเพชรอยู่ในกรอบเส้นลวดนูนสองชั้น มีซุ้มแหลมครอบองค์พระอยู่ด้านใน มีอักขระกำกับด้านบนซุ้มสองข้างว่า "นะ มะ พะ ทะ" ใต้ตัว นะ ลงด้วยตัว "อุด" ใต้ตัว มะ ลงด้วยตัว "ทัง" ตรงกลางเป็น เฑาะห์

"นะ มะ พะ ทะ อุด ทัง" เป็นคาถามหาอุด ทำให้ดินปืนเปียกไม่ติดไฟ

ด้านซ้ายมือมีคาถา ๕ ตัว อ่านในแนวตั้งจากบนลงล่างว่า "ยะ ปะ ฏิ รู ปัง" ส่วนด้านขวามือมีอักขระ ๖ ตัว อ่านในแนวตั้งจากบนลงล่างว่า "พระ อะ ระ หัง ติ"

"ยะ ปะ ฏิ รู ปัง" เป็นคาถาหัวใจ บรรพชา ใช้เสกหมากกิน หรือเสกปูนกวาดคอ มีอุปเท่ห์การใช้ คือ ตั้ง "นะ โม ๓ จบ เสก ๗ จบ" ป้ายลูกกระเดือกก่อนออกรบทัพจับศึก ทำให้อยู่คง คาถาบทนี้อยู่ได้เพียงชั่วเบา (ปัสสาวะ)

"พระ อะ ระ หัง ติ" เป็นคาถาแคล้วคลาดจากภัยอันตรายทั้งปวง

พระฝักไม้ดำ-พระฝักไม้ขาว มีพุทธคุณเด่นทางมหาอุด และคงกระพันชาตรี เคยมีเรื่องเล่าลือกันว่า สมัยก่อนบรรดาจอมพลต่างแขวนห้อยคอกันแทบทั้งนั้น รวมทั้งสั่งให้ลูกน้องเสาะหามาใช้เช่นเดียวกับพระร่วงหลังรางปืน และน่าจะด้วยเหตุผลนี้นี่เอง จึงทำให้พระพิมพ์กรุบางระกำกลายเป็นตำนานหนึ่งของพระเครื่องเมืองไทยไปแล้วในขณะนี้

“พระมงคลสุธี” หรือ "หลวงปู่แขก ปภาโส" เจ้าอาวาสวัดวัดสุนทรประดิษฐ์ ส่วนชื่อจริงท่านคือ "ลำยอง" ก่อนหน้านี้ลูกศิษย์มักจะเรียกท่านว่า "หลวงพ่อลำยอง" หรือ "หลวงพ่อยอง" ส่วนชื่อหลวงปู่แขกนั้น ลูกศิษย์เพิ่งมาเรียกเมื่อ ๑๐ กว่าปีที่ผ่านมานี้เอง เพราะใบหน้าท่านคล้ายคนแขกนั่นเอง

หลวงปู่แขกท่านเป็นลูกศิษย์หลวงพ่อกุย วัดปากลัด อ.โพธิ์ทะเล จ.พิจิตร ซึ่งเป็นลูกศิษย์หลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน นอกจากนี้ท่านยังเป็นสหธรรมมิกกับพระครูประกาศสมาธิคุณ วัดมหาธาตุฯ กทม. จึงเชี่ยวชาญเรื่องเตโชกสิณไฟเช่นเดียว รวมทั้งเป็นสหธรรมมิกกับ อ.ไสว สุมโน วัดราชนัดดา กทม. ทุกครั้งที่ อ.ไสว สร้างพระจะมีหลวงปู่แขกจารแผ่นยันต์ และร่วมนั่งปรกด้วย เช่น พระกริ่งศรีนคร พ.ศ. ๒๕๑๖

ขณะเดียวกัน ท่านยังเป็น ๑ ใน ๑๐๘ รูป ของพระเกจิอาจารย์ ในพิธีจักรพรรดิมหาพุทธพิเษก ณ พระวิหารพระพุทธชินราช เมืองพิษณุโลก เมื่อวันที่ ๑๙-๒๐ มกราคม ๒๕๑๕ ในการจัดสร้างพระกริ่งนเรศวร วังจันทร์ ที่ยังมีชีวิตอยู่ไม่กี่รูป

สำหรับวัตถุมงคลหลวงปู่แขก ท่านได้สืบสานตำนานพระเครื่องพิมพ์สิงห์ป้อนเหยื่ออันลือชื่อของเมืองสองแคว โดยใน พ.ศ. ๒๕๐๓ ท่านได้นำพระที่ชำรุดแตกหักมาบดเป็นผงผสมกับผงของท่าน สร้างพระพิมพ์สิงห์ป้อนเหยื่อขึ้นมาใหม่อีกครั้งหนึ่ง
วัตถุมงคลยุคแรก ๆ คือ พระสิงห์ป้อนเหยื่อ รุ่นแรก เนื้อผสมผงเก่า ทำมือ สร้างปี ๒๕๐๓ เหรียญรูปเหมือนรุ่นแรก พิมพ์กลม พ.ศ.๒๕๒๒, พระสิงห์ป้อนเหยื่อฝักไม้ขาว-ฝักไม้ดำ พ.ศ. ๒๕๓๔ พระกลีบบัวฝักไม้ขาว พ.ศ.๒๕๓๔ พระพุทธชินราชอกเลา รุ่นแรก พ.ศ.๒๕๓๔ รูปหล่อรุ่นแรก ฯลฯ

พญาเต่าเรือน หลวงปู่หลิว วัดไร่แตงทอง นครปฐม

พญาเต่าเรือน หลวงปู่หลิว วัดไร่แตงทอง นครปฐม รุ่นสุขใจ 2537

เมื่อครั้งอดีต ตอนที่พระโพธิสัตว์เจ้า เสวยพระชาติเป็นพญาเต่าเรือนคือมีตัวใหญ่อย่างเรือนหรือบ้านเล็กๆ มีนามว่า “มหาจิตรจุล” อาศัยอยู่บนเกาะแห่งหนึ่ง ซึ่งอยู่มาไม่นานเกิดเหตุการณ์พายุเข้าบริเวณเกาะ จึงเป็นเหตุให้เรือสำเภาที่ผ่านบริเวณนั้นอับปางเกาะดังกล่าวมีผู้คนว่ายน้ำ หนีตายมาอาศัยที่เกาะ เป็นจำนวนมากต่างขาดอาหารและน้ำ ชาวบ้านต่างจึงคิดที่ทำร้ายพญาเต่าโพธิสัตว์ ในครั้งนั้นพญาเต่าโพธิสัตว์จึงคิดว่า ในเมื่อชาวบ้านต่างเดือดร้อน ถึงขนาด ต้องคิดฆ่าตัวเราเพื่ออยู่รอด พญาเต่าโพธิสัตว์มีจิตอนุเคราะห์ จึงกลิ้งตัวจากภูเขา หมายที่จะบริจาคทานด้วยเลือดและเนื้อของตน ในที่สุดเมื่อ ตกลงมาถึงตีนเขาก็ถึงกาลกิริยาแตกดับ ผู้คนเหล่านั้นก็ได้อาศัยเนื้อพระโพธิสัตว์พญาเต่าเรือนบริโภคเป็นอาหาร แล้วเอากระดอง ทำเป็นพาหนะ กลับสู่บ้านเมืองอย่างปลอดภัย ภายหลังผู้คนเหล่านั้นได้ระลึกนึกถึงบุญคุณของพญาเต่าเรือน จึงได้วาดภาพไว้สักการบูชาเพื่อความเป็นสิริมงคล และต่อมาจึงได้มีการสร้างเป็นวัตถุมงคลรูปเต่าลงอักขระเลขยันต์ปลุกเสกไว้ บูชาสืบทอดมาถึงปัจจุบันด้วยอานุภาพแห่งมหาทานอันยิ่งใหญ่ในครั้งนั้น

ดังนั้นครูบาอาจารย์ในสมัยโบราณ จึงได้สร้างวัตถุมงคลเป็นรูปพญาเต่าเรือน ด้วยเชื่อว่าจะทำให้ทำมาค้าขายดี เพราะถือว่าพญาเต่าเรือนอยู่ในชาติหนึ่ง ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นั้น พระองค์เคยเสวยชาติเป็นพญาเต่าเรือน ได้สละเลือดเนื้อชีวิตเพื่อเป็นทานแก่สัตว์ผู้ยากไร้ เกจิอาจารย์ต่างๆ ในอดีตจึงมีการสักยันต์ตามตัวและทำเครื่องรางเพื่อไว้ใช้ ด้วยเหตุที่ว่าสารพัดใช้ ตามอธิษฐาน วิเศษนักเป็นได้ทุกอย่าง เช่นทำให้มีโชคลาภ เงินทองหลั่งไหลมาไม่ขาดสาย ค้าขายจะเจริญก้าวหน้า และเป็นมงคลแก่ผู้บูชายิ่งนัก การทำเครื่องรางพญาเต่าเรือนในสมัยโบราณนั้น มักนิยมใช้ กระดองเต่าตายซากหรือตายเองซึ่งถือเป็นหลักโดยห้ามฆ่าจากนั้นก็จะ นำกระดองเต่ามาลงอักขระหัวใจพญาเต่าเรือน(นาสังสิโม)และอักขระ พระเจ้าห้าพระองค์ (นะโมพุทธายะ)จากนั้นนำไปปลุกเสก ซึ่งถือเป็นของดีที่หายากและมีความสำคัญประจำบ้าน เรือน และป้องกันภัยพิบัติอันตรายทุกประการจากโจรภัย วาตภัย อัคคีภัย ฯเรียกว่าหากใครมีไว้บูชาถือว่าเป็นแก้วสารพัดนึกเลยก็ว่าได้ แต่ปัจจุบันกระดองเต่าที่ตายซากหรือตายเองหาได้ยาก เกจิอาจารย์จึงใช้วิธีเขียนอักขระ บนแผ่นโลหะหรือผ้ายันต์เป็นรูป “พญาเต่าเรือน” แล้วนำมาปลุกเสก

ถ้าพูดถึงพญาเต่าเรือนแล้ว เกจิอาจารย์ที่ถูกกล่าวขวัญถึงมากที่สุดย่อมไม่พ้นหลวงปู่หลิว แห่งวัดไร่แตงทอง ตำบลลูกนก อ.กำแพงแสน จังหวัดนครปฐม ท่านได้เดินทางฝ่าป่าดงดิบซึ่งถือว่าอันตรายมากในสมัยนั้นไปเรียนวิชากับอาจารย์ชาวกะเหรี่ยงเป็นเวลา 3 ปี เมื่อได้วิชาติดตัวกลับมาแล้วได้กลับมาช่วย ที่บ้านปราบโจรขโมยวัวจนราบคาบ วิชาเต่าเรือนนั้นท่านได้เรียนมาจาก หลวงพ่อย่น วัดฆ้องใหญ่ จ.ราชบุรี นอกจากนี้ท่านยังได้ศึกษาจากอาจารย์อีกหลายท่าน อาทิเช่ หลวงพ่อแดง วัดเขาบันไดอิฐ จ.เพชรบุรี หลวงพ่อคล้าย วัดสวนขัน จ.นครศรีธรรมราช และ หลวงพ่ออุ้ม จ.นครสวรรค์ วิชาที่ท่านศึกษาจาก หลวงพ่ออุ้มคือ ท่านให้ลป.หลิวนำกระดาษฟูลสแก็ปไปไว้อีกฟากของภูเขาที่อยู่ห่างออกไป 10 กิโลเมตร จากนั้นหลวงพ่ออุ้มได้นำ เหรียญบาทขึ้นมา ลงอักขระอาคมแล้วโยนขึ้นไปในอากาศ ปรากฎว่าเหรียญสามารถลอยข้ามภูเขาไปตกยังกระดาษได้ ท่านสนใจวิชานี้มากได้ศึกษาจนสำเร็จ

ในปีพศ. 2523 ขณะที่หลวงปู่จำพรรษาอยู่ ณ วัดไทรทองพัฒนา ท่านได้เก็บสะสมเงินจากการรับบริจาค มาซื้อที่ดินเพื่อก่อตั้งวัดไร่แตงทองขึ้น ณ ตำบล ลูกนก อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม และได้พัฒนาจนมีความเจริญรุ่งเรืองตามลำดับ

เริ่มเข้ากลางปี พ.ศ. 2543 หลังจากพิธี พุทธาภิเษกวัตถุมงคลรุ่นเสาร์ 5 เป็นต้นมา หลวงปู่ก็เริ่มอาพาธ ด้วยโรคชรา

ปรัชญา อันลึกซึ้งของหลวงปู่หลิว ขณะที่ท่านอาพาธ ก็คือไม่ยินดียินร้ายกับการจะอยู่หรือจะไป ร่างกายของคนเราเป็นของผสม เมื่อถึงคราวแตกดับก็ต้องแตกดับ คือต้องตายทั้งนั้น ที่สำคัญคือ เมื่อมีชีวิตอยู่ต้องไตร่ตรองให้รู้ว่าเราเกิดมาทำไม อยู่เพื่ออะไร และจะใช้ชีวิตอย่างไร หลวงปู่หลิวเคยปรารภกับลูกหลานว่า ท่านเกิดที่หนองอ้อ ท่านก็อยากตายที่หนองอ้อ และหากว่าเมื่อถึงเวลาที่ท่านต้องจากไป ก็อย่าได้หน่วงเหนี่ยวท่านไว้ เพราะวัฏสงสารเป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์ จะยื้อยุดฉุดกระชากอย่างไร ก็ต้องพบกับความจริงข้อนี้วันยังค่ำ

ในค่ำคืนวันจันทร์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2543 เวลา 20.35 น. หลวงปู่หลิวได้ละสังขารอย่าสงบท่ามกลางลูกหลานที่คอยมาดูใจเป็นครั้งสุดท้าย ที่กุฏิของท่าน ณ วัดหนองอ้อ อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี รวมอายุ 95 ปี พรรษา 74 พรรษา แม้การจากไปของหลวงปู่หลิวจะไม่มีสัญญาณเตือนล่วงหน้า แต่ลูกหลานและญาติโยมก็รู้แก่ใจดีหากท่านสั่งเสียได้ ท่านคงอยากบอกทุกคนให้เป็นคนดี เป็นพุทธศาสนิกชนที่ดี ดังที่ท่านเคยปฏิบัติมาตลอดชีวิต

คาถาบูชาพญาเต่าเรือน หลวงปู่หลิว
ให้ตั้งนะโม 3 จบ แล้วกล่าวคำว่า
"นะมะพะทะ นาสังสิโม สังสิโมนา สิโมนาสัง โมนาสังสิ นะอุทะกะ เมมะอะอุอะ"

เหรียญหลวงพ่อแดง วัดเขาบันไดอิฐ รุ่นสูบยาเพชร

เหรียญหลวงพ่อแดง วัดเขาบันไดอิฐ รุ่นสูบยาเพชร
วัตถุมงคลรุ่นนี้จัดสร้างขึ้นมา เพื่อนำรายได้บูรณะพระองค์ใหญ่ที่อยู่บนยอดเขาบันไดอิฐให้แล้วเสร็จ หลังจากที่ค้างคามานานหลายสิบปี และจะนำเงินสวนหนึ่งมาสร้างศาลาปฏิบัติธรรม
จะว่าไปแล้วปัจจุบันวัตถุมงคลของหลวงพ่อแดงรุ่นเก่าๆได้รับความนิยมในหมู่นักสะสมอย่างมาก บางรุ่นบางพิมพ์สนนราคาเล่นหาสูงและก็หาบูชายาก สิ่งสำคัญมีของทำเทียมเลียนแบบสร้างออกมามากมาย

หลวงพ่อแดง ท่านเป็นพระใจดีมีเมตตาสูง และอารมณ์ดีเสมอ ไม่ชอบดุด่าว่าใคร โดยเฉพาะคำหยาบคายถึงพ่อแม่ ท่านห้ามขาด ท่านว่าทุกคนเขาก็มีพ่อมีแม่ การด่าถึงบุพการีทำให้ความดีงามเสื่อมถอย ถึงห้อยพระพระท่านก็ไม่คุ้มครอง
ตลอดหลายปีที่ผ่านมายังไม่เคยมีโครงการไหนสร้างวัตถุมงคลหลวงพ่อแดง ได้ยิ่งใหญ่อลังการ เพิ่งมีรุ่นนี้ “เหรียญหลวงพ่อแดง รุ่นสูบยาเพชร” วัดเขาบันไดอิฐ จ.เพชรบุรี
นับเป็นครั้งประวัติศาสตร์ 30 กว่าปีที่ไม่มีการเปิดโบสถ์ ศาลา ของวัดเขาบันไดอิฐ พุทธาภิเษกวัตถุมงคล

พิธีพุทธาพิเษกวาระที่ 1 วันที่ 31 สิงหาคม - 1 กันยายน 2556
ที่สรีระหลวงพ่อแดง (บนกุฏิ)
1. หลวงพ่อวัดสุทัศน์
2. หลวงพ่อวัดไตรมิตร
3. หลวงพ่อวัดยานนาวา
4. หลวงพ่อวัดสีสุดา
5. หลวงพ่อวัดอินทรวิหาร
6. หลวงพ่อวัดบางคาน จังหวัดพิจิตร
7. หลวงพ่อวัดคลองคูณ จังหวัดพิจิตร
8. หลวงพ่อวัดสตือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
9. หลวงพ่อวัดเกศไซโย จังหวัดอ่างทอง
10. หลวงพ่อวัดมหาธาตุ จังหวัดเพชรบุรี
11. หลวงพ่อวัดเขากลิ้ง จังหวัดเพชรบุรี
12. พลวงพ่อวัดช้างแทงกระจาด จังหวัดเพชรบุรี
13. หลวงพ่อวัดสุนทรประดิษฐ์ จังหวัดพิษณุโลก
14. หลวงพ่อวัดเขาสุทะโน จังหวัดเพชรบูรณ์

พระเจริญพระพุทธมนต์ธรรมจักรกัปปวัดตสูตร
1. พระศรีวิสุทธิวงศ์ (เจ้าคุณเทียม)
2. พระวชิรธรรมคณี
3. พระครูวัชรสุวรรณาทร
4. พระครูศรีธรรมรัตน์
5. พระอาจารย์บุญมี
6. พระครูโสภิตวัชรากร
7. พระครูวัชรินทรขีรารักษ์
8. พระสมุห์อำนวย
9. พระครูสาทรภัทรโรดม
10. พระครูปลัดสาธุวัฒน์
11. พระอธิการวิรัติ

เชิญโยมในพิธีจุดเทียนน้ำมนต์ เวลา 13.09 น.
1. พลโท อชิตพล วัดบัว
2. ปลัดปราโมท
3. พลอากาศโท ตร. ชนนนาถ เทพลิบ
4. คุณวันชัย คุณกัณทิมา
5. คุณจรูญ ประสิทธิสุนทร
6. อาจารย์รักษ์ ศรีเกตุ
7. คุณชัยยะ อังกินันท์
8. คุณสมบูรณ์ บุญเขตต์
9. ผู้อำนวยการ ส.ว.ท. เพชรบุรี
10. อาจารย์โสภพ แสงอยู่